วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บทที่ 7 ศิลปะตะวันตกสมัยใหม


โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร
ศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) คืออะไร
ในศิลปะตะวันตก คำว่า “Modern art” หมายถึง รูปแบบและอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์ศิลปะที่เกิดขึ้นประมาณทศวรรษ 1860-1970 “Modern”  ตรงกับคำว่า สมัยใหม่หรือ ความทันสมัย หมายถึง ความใหม่หรือความร่วมยุคร่วมสมัย ศิลปะล้วนเป็นสิ่งใหม่ (modern) สำหรับผู้สร้างทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะเป็นศิลปะที่สร้างขึ้นในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) หรือศิลปะที่สร้างขึ้นในนิวยอร์กเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 20
ลักษณะสำคัญของ ศิลปะสมัยใหม่” (Modern Art) และ ลัทธิสมัยใหม่นิยม” (Modernism) มีความเกี่ยวข้องกับทัศนคติใหม่ๆที่มีต่ออดีตและอนาคต โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นยุคปฏิวัติของยุโรป ทำให้ศิลปินเริ่มยอมรับว่าการเขียนภาพ เหตุการณ์ปัจจุบัน-ร่วมสมัย ก็มีคุณค่าทางศิลปะเท่าเทียมกับภาพเขียนเรื่องราวในอดีตตั้งแต่ยุคโบราณหรือยุคประวัติศาสตร์จากคัมภีร์ไบเบิล การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั่วไปในยุโรปเมื่อปีค.ศ.1848 และการเสื่อมความนิยมที่มีต่อศิลปะตามหลักวิชา (academic art) ทำให้กระแสศิลปะลัทธิสมัยใหม่เติบโตมากขึ้น
จิตรกรแนว นีโอ-คลาสสิกซิสม์ (Neo-Classicism) อาทิ ฌาค หลุยส์ ดาวิด (Jacques Louis David) ซึ่งเขียนภาพเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส จิตรกรแนวโรแมนติกซิสม์ (Romanticism)  เช่น ฟรานซิสโก เดอ โกย่า (Francisco de Goya) เขียนภาพเหตุการณ์ตอนที่นโปเลียนจากฝรั่งเศสรุกรานสเปน ได้ช่วยแผ้วถางทางของศิลปะในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19     ทำให้เกิดงานศิลปะที่ปฏิเสธการเขียนภาพเกี่ยวกับอดีตของศิลปิน เรียลลิสม์ (Realism สัจนิยม) อาทิ กุสตาฟ กูร์เบต์ (Gustave Courbet) และ เอดัวร์ มาเนต์ (Edouard Manet)
ศิลปินสมัยใหม่ในยุคต่อมา เช่น ศิลปินกลุ่มลัทธิอิมเพรสชันนิสต์(Impressionist, Impressionism) และ โพสต์-อิมเพรสชันนิสต์ (Post-Impressionist, Post-Impressionism)            จะปฏิเสธทั้งการเขียนภาพเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และยังไม่สนใจแบบแผนการสร้างภาพลวงตา (เขียนให้เหมือนจริงมาก) ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ
ความใหม่ คือ สิ่งที่ศิลปินสมัยใหม่ให้ความสำคัญ จึงมีศิลปินหัวก้าวหน้า  (Advance-guard artists ) ซึ่งเป็นพวกล้ำสมัยของสังคมเกิดขึ้น ซึ่งบางทีก็ถูกปฏิเสธจากนักประวัติศาสตร์ศิลปะด้วย และบทบาทของผู้อุปถัมภ์ศิลปะในอดีตอย่าง ศาสนจักร รัฐ และขุนนาง ที่ลดลงไปก็มีส่วนสำคัญทำให้ลัทธิสมัยใหม่พัฒนาอย่างรวดเร็ว เพราะศิลปินสมัยใหม่จะมีอิสรเสรีในการสร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่างไปจากอดีต ซึ่งศิลปินต้องทำตามความประสงค์ของ ผู้ว่าจ้าง
การค้าขายศิลปะตามระบบทุนนิยม ก็เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ศิลปินทำการทดลองสร้างสรรค์ความแปลกใหม่ คำว่า ศิลปะเพื่อศิลปะที่เริ่มแพร่หลายในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19           ก็ยิ่งกระจายออกไปอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 คำๆนี้สามารถใช้อธิบายศิลปะที่เกิดจากความคิดส่วนตัวของศิลปิน ที่มีความเป็นปัจเจกสูงจนไม่ต้องการการอ้างอิงประเด็นทางสังคมและศาสนา
การเติบโตของ ศิลปะสมัยใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของการที่สังคมตะวันตกได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรม ความเป็นเมืองใหญ่แบบมหานคร และการเป็นสังคมวัตถุนิยมอย่างเต็มที่ ในคริสต์ศตวรรษที่  19  ศิลปินสมัยใหม่ได้ท้าทายรสนิยมของชนชั้นกลาง โดยการหาเรื่อง ประเด็น และรูปแบบใหม่ๆ ที่แปลกไปจากแบบแผนดั้งเดิม
ศิลปะสมัยใหม่มักมีแนวเนื้อหาเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองเทคโนโลยี การค้นหาจิตวิญญาณ และการกระตุ้นด้วยความป่าเถื่อนในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย การเฉลิมฉลองเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ปรากฏออกมาในรูปของการชื่นชม ความเร็วในศิลปะลัทธิฟิวเจอร์ริสม์ (Futurism) การใช้แนวคิดในเชิงวิทยาศาสตร์ปรากฏในงานของพวกคอนสตรัคติวิสม์ (Constructivism) ในอดีตสหภาพโซเวียต การค้นหาจิตวิญญาณมีอยู่ในงานของพวกซิมโบลลิสม์ (Symbolism) ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ในขณะที่การสร้างผลงานแบบเดอ สตีล หรือ เดอะ สไตล์ (De Stijl/The Style) ในเนเธอร์แลนด์ นาบิส (Nabis) ในฝรั่งเศส ในคริสต์ศตวรรษ 1890 และ แดร์ บลาว ไรเตอร์ หรือ เดอะ บลู ไรเดอร์ (Der Blaue Reiter/The Blue Rider) ในเมืองมิวนิค เยอรมนี ถือเป็นปฏิกริยาโต้ตอบกับวัตถุนิยมในยุคสมัยใหม่ในสังคมตะวันตก
ความสนใจในความเถื่อนของศิลปะจากคนป่าและชาวเกาะ (อัฟริกันและชาวเกาะ หรือโอเชียนนิค Oceanic) จะปรากฏชัดในงานของ โพสต์-อิมเพรสชันนิสม์ คิวบิสม์ (Cubism) และเยอรมันเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (German Expressionism) ในเยอรมนีช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 20 ความสนใจในสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นผลของลัทธิ จักรวรรดินิยม” (Imperialism) ที่มุ่งแสวงหาอาณานิคมและมักอ้างว่าชาวตะวันตกเป็นผู้ค้นพบวัฒนธรรมของดินแดนอาณานิคม (ที่มา www.designer.in.th/artistic-movement/modern-art.html)

ศิลปะลัทธินีโอ-คลาสลิก (Neo – Classicism Art)
ศิลปะลัทธินีโอ-คลาสลิก หมายถึง รูปแบบศิลปะที่หวนกลับไปนำปรัชญาและ               หลักสุนทรียภาพทางศิลปะแบบคลาสลิกของกรีกโบราณมาสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ในยุโรประหว่าง              ค..1780-1840 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส
การเคลื่อนไหวของศิลปะลัทธินีโอ-คลาสสิกคาบเกี่ยวกับช่วงปลายของศิลปะบารอคกับรอคโคโคที่มีอิทธิพลครอบงำทั่วยุโรป ระหว่างนั้นยุโรปมีการปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเกิดกระแสการเคลื่อนไหวให้มีการปกครองประชาธิปไตยดังเช่นในสมัยกรีก
นักประวัติศาสตร์ศิลปะบางท่านกล่าวว่า  ศิลปะที่มีรูปแบบแตกต่างจากแบบเดิมเป็นศิลปะสมัยใหม่  บางท่านก็เสนอว่าจุดเริ่มต้นของศิลปะสมัยใหม่เกิดขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อยุโรปมีการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ บางท่านก็ระบุว่าคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะสมัยใหม่  บางท่านก็กำหนดให้ช่วงเวลาหลังการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะสมัยใหม่
นักประวัติศาสตร์ศิลปะบางท่านเสนอว่า ศิลปะยุคใหม่ควรจะเริ่มต้นในยุคนีโอ-คลาสสิกเพราะเป็นช่วงของความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมือง บางท่านไม่เห็นด้วย เพราะศิลปะนีโอ-คลาสลิกยังถูกครอบงำจากอิทธิพลของศิลปะคลาสสิกอย่างแน่นหนา

แรงผลักดันอื่นๆต่อการเกิดศิลปะลัทธินีโอ-คลาสสิก
ความตื่นเต้นจากการขุดค้นเมืองโบราณสมัยโรมัน 2 เมือง คือ เมืองเฮอร์คูลาเนียมกับเมืองปอมเปอีซึ่งถูกภูเขาไฟวิสุเวียสพ่นลาวาทับตั้งแต่ ค..79 ทำให้โจฮันน์ จัวคิม วินเคิลมานน์(Johann Joakim Winklemann) เขียน หนังสือชื่อ History of the Art of the Ancient People (1764) จุดกระแสการเรียนรู้ศิลปะ การเมือง การปกครองและสุนทรียภาพของศิลปะสมัยกรีก-โรมันอีกครั้ง นอกจากนี้ ศิลปินบางส่วนก็อิ่มตัวกับศิลปะบารอค-รอคโคโค จึงหันไปหาศิลปะที่มีกฎเกณฑ์และความงามแบบดั้งเดิม
ความคิดของนักปรัชญาสำคัญได้แก่ จอห์น  ลอค (John Lock) โวลแตร์ (François Henri Voltaire) มองเตสกิเออร์ (Baron de Montesquieu) และฌอง ฌากส์ รูซ์โซ (Jean Jacques Rousseau) ก็ส่งผลต่อการปฏิวัติความคิดของคนและสังคมก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ท้าทายอำนาจรัฐและศาสนจักร รวมทั้งส่งผลต่อการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินด้วย

อดัม สมิธ (Adam Smith) นักเศรษฐศาสตร์ชาวสก็อตเสนอว่า รัฐควรจะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการค้าของเอกชน เพียงเพื่อให้เอกชนได้ค้าขายระหว่างกันอย่างสะดวกและยุติธรรม ปราศจากการเอาเปรียบและกดขี่ รวมทั้งดูแลด้านการศึกษาและสาธารณสุขแก่ประชาชน ทำให้ชนชั้นกลางมุ่งจะปฏิวัติ  เพื่อเปลี่ยนแปลงแบบแผนเศรษฐกิจใหม่ ให้มีเสรีภาพและส่งผลต่อระบบเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ
  
ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์กับการท้าทายความเชื่อทางศาสนา
เซอร์ ไอแซค นิวตัน(Sir Isaac Newton) มีบทบาทสำคัญต่อการยุติความเชื่อที่ว่า  ธรรมชาติถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ของจักรวาลภายใต้ความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าของสมัยกลาง ส่งผลต่อรูปแบบของศิลปะสมัยใหม่ในเวลาต่อมา โดยเฉพาะลัทธิอิมเพรสชันนิสม์
ผลงานของนักคิดทางการเมือง  เศรษฐกิจ และวิทยาศาสตร์ข้างต้น  เร่งเร้าให้สังคมยุโรปก้าวสู่การปฏิวัติทางการเมือง รองรับหรือสนับสนุนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ชี้ให้เห็นว่า        การปฏิวัติอุตสาหกรรมมีเนื้อแท้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับระบบสังคมแบบประชาธิปไตย


___________________________________
ศิลปินสำคัญลัทธินีโอ-คลาสลิก
ดาวิด (Jacques-Louis David)
การสร้างงานศิลปะนีโอ-คลาสสิกมีสัมพันธภาพระหว่างการเมืองการปกครองและศิลปิน ดาวิดผู้นำคนสำคัญชาวฝรั่งเศสของศิลปะลัทธินีโอ-คลาสสิก มีบทบาทสนับสนุนขบวนการปฏิวัติทางการเมืองให้ก้าวไปสู่ระบบเสรีประชาธิปไตยอย่างเต็มที่จนถูกจับระยะหนึ่ง เขาริเริ่มนำเอาโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมสมัยกรีกและโรมันมาเป็นฉากหลังในงานจิตรกรรม และเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสมัยกรีกและโรมัน ผลงานของเขาแฝงความรักชาติ และสำนึกรับผิดชอบต่อประชาชนผสมผสานกับแนวคิดของนักปรัชญาร่วมสมัย
ขณะที่สถาปัตยกรรมและประติมากรรมแบบนีโอ-คลาสลิก มีข้อจำกัดและไม่หลุดพ้นจากศิลปะแบบบารอค-รอคโคโค แต่จิตรกรรมแบบนีโอ-คลาสสิคกลับมีความโดดเด่นกว่ามาก  ดาวิด ได้ปฏิรูปศิลปะของฝรั่งเศสโดยให้นิยาม ศิลปะว่า ศิลปะ คือ ดวงประทีปของเหตุผล”  นิยามดังกล่าวจึงกลายเป็นความเชื่อของศิลปะนีโอ-คลาสสิกสืบมา (ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์.2547)
ความเชื่อทางศิลปะของดาวิด
1.  การบันทึกเหตุการณ์หรือเรื่องราวเป็นรูปแบบแสดงความเป็นจริงด้วยการวาดเขียนหรือระบายสีเป็นคุณค่าสูงสุดของศิลปะ
2. การถ่ายทอดรูปแบบทางศิลปะจะต้องคำนึงท่าทางที่สง่างาม สมบูรณ์ได้สัดส่วน            ทั้งทางด้านร่างกาย กล้ามเนื้อ และส่วนประกอบโดยรวมทั้งหมด
3. ศิลปะต้องสะท้อนภาพสังคม กระตุ้นความรักชาติ กล้าหาญและเป็นแบบอย่างแก่สังคม
4. ขนาดของภาพมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเนื้อหาเพราะศิลปินเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์แก่มนุษยชาติด้วยภาพเขียน

ความเชื่อของดาวิดส่งผลผลกระทบต่อรูปแบบจิตรกรรมลัทธินีโอ-คลาสสิก คือ ภาพเขียนต้องแสดงความถูกต้องตามหลักกายวิภาคศาสตร์ การวางท่าทางที่สง่างามตามแบบอย่างของศิลปะกรีก-โรมัน   โดยเน้นความถูกต้องตามหลักความเป็นจริง

หลักการเขียนภาพของดาวิด
การเขียนภาพแต่ละภาพต้องมีการวางแผนและทำงานอย่างเป็นขั้นตอน มีการเก็บรวบรวมข้อมูล  มีการร่างภาพ ส่วนการลงสีนั้นก็ต้องคำนึงถึงถูกต้องตามหลักของแสงและเงา            ทั้งเงาบนวัตถุ เงาตกกระทบ แสงบนวัตถุ  แสงสะท้อนและความกลมกลืน นิยมสร้างฉากหลังด้วยสถาปัตยกรรมกรีก-โรมัน จัดภาพมีลักษณะโอ่อ่ากว้างขวางคล้ายการแสดงบนิเวที และให้บรรยากาศเหมือนอยู่ในสมัยกรีก-โรมัน นิยมถ่ายทอดเรื่องราวเทพนิยายหรือประวัติศาสตร์กรีก นิยมเอารูปผู้นำ ผู้ปกครองและกิจกรรมของผู้นำมาเป็นเนื้อหาการสร้างสรรค์
ผลงานส่วนหนึ่งของดาวิด ได้แก่ ภาพ คำสาบานของพวก ฮอราติไอ” “ความตายของโสเครติสและ  ความตายของมาราท์
ภาพ คำสาบานของพวกฮอราติไอเป็นการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความรักชาติของนักรบโรมัน 3 คนที่รับดาบจากบิดาไปสู้กับศัตรู โดยยึดถือผลประโยชน์ของรัฐเป็นหลัก                      ส่วนครอบครัว คนรักและพี่น้องเป็นเรื่องรอง งานของดาวิดเจตนาแฝงอุดมคติและคุณค่าสูงสุดแห่งการเสียสละเพื่อมาตุภูมิ เมื่อนำผลงานออกแสดงจึงได้รับการย่องจากผู้สนับสนุนการปฏิวัติที่นิยมระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์. 2547)

ไฟล์:David-Oath of the Horatii-1784.jpg

คำสาบานของโฮราติไอ โดย ฌาคส์-หลุยส์ ดาวิด (Jacques-Louis David) (ค.ศ. 1784)
(ที่มา http://th.wikipedia.org)

แองเกรอส์  (Jean Auguste Dominique Ingres ..1780-1867)
ชาวฝรั่งเศสมีบทบาทสร้างผลงานศิลปะและสอนลูกศิษย์ให้ยึดมั่นหลักการจนวาระสุดท้าย  เป็นศิษย์ดาวิดและได้รางวัลกรังด์ปรีซ์ เดอ โรมเช่นกัน  มีผลงานสะท้อนให้เห็นกระแสร่วมทางความคิดกับนักคิด นักปรัชญาตลอดจนศิลปินกลุ่มก้าวหน้า อาทิ ภาพ คณะทูต จากอะกาเมนอนและภาพ อบ นวด และอาบน้ำสะท้อนความสามารถพิเศษในการเขียนภาพเหมือนบุคคล เช่น ภาพ มาดามริเวียร์ (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์.2547)


The Turkish Bath ภาพนู้ดที่มีชื่อเสียงที่สุดของแองเกรอ
(ที่มา http://th.wikipedia.org)
ศิลปะลัทธิโรแมนติก (Romanticism Art)
ศิลปะโรแมนติกเป็นลัทธิที่เคลื่อนไหวในยุโรป สืบต่อจากลัทธินีโอคลาสลิก ศิลปินส่วนใหญ่ของลัทธิโรแมนติกเป็นศิษย์ของศิลปินลัทธินีโอ-คลาสลิกด้วย แต่ศิลปะลัทธิโรแมนติกกลับมีรูปแบบการแสดงออกทางศิลปะที่เป็นปฏิปักษ์กับลัทธินีโอ-คลาสลิก ลัทธินีโอ-คลาสลิก คำนึงถึงความถูกต้องตามหลักการและกฏเกณฑ์ทางศิลปะ แต่ลัทธิโรแมนติกกลับยึดถือและให้ความสำคัญที่อารมณ์และจิตใจของศิลปินมากกว่าเหตุผล  (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์.2547)
เป้าหมายของศิลปินลัทธิโรแมนติก คือ มุ่งเร้าสั่นสะเทือนอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมเป็นสำคัญ พวกเขายอมรับว่า จิตเป็นแหล่งกำเนิดและที่อยู่อาศัยของตัณหาและอารมณ์และมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์  จากเป้าหมายข้างต้น ศิลปินโรแมนติกจึงพยายามใช้รูปแบบศิลปะที่ใช้ความขัดแย้งเป็นตัวเร้าอารมณ์  เช่น การตัดกับของน้ำหนักแสงเงา ความสว่างและความมืด
การที่ศิลปินลัทธิโรแมนติกยึดมั่นในอารมณ์มากว่าเหตุผล  จึงพยายามอธิบายความไม่แน่นอนของชีวิต และผสานชีวิตกับศิลปะให้โดดเด่นสะดุดตาสะดุดใจด้วยการสะท้อนเรื่องจริงในชีวิต  โดยเน้นเรื่องที่สะเทือนอารมณ์อันเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยที่ตนดำรงอยู่ทั้งภายในและภายนอกประเทศมาเป็นเนื้อหา  ผลงานส่วนใหญ่ของลัทธิโรแมนติกเป็นผลงานจิตรกรรม

รูปแบบการแสดงออกของศิลปะลัทธิโรแมนติค 5 ประการ
1แสดงแสงและเงาตัดกันอย่างชัดเจน ไม่นิยมระบายสีตามลำดับอ่อนแก่ นิยมใช้สีขัดแย้ง มีการเน้นรอยต่อระหว่างรูปและพื้น ด้วยการจงใจให้เกิดน้ำหนักที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัด
2. นิยมเขียนภาพที่เน้นการผจญภัย ตื่นเต้น เร้าใจ และสะเทือนขวัญประชาชน
3. นิยมเขียนท่าทางรูปคนตามแบบที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ มากกว่ายึดถือท่าทางกรีกโรมันโบราณ ดังที่ลัทธิโอคลาสลิกนิยม
4. นิยมการจัดภาพที่ไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอชัดเจน แต่เสนอแนะและอำพรางรูปให้ดูฉงนด้วยภาพที่ถูกคลุมด้วยเงาดำ กับรูปทรงที่เกิดจากแสงและเงา
5. นิยมสร้างรอยแปรงและความสำคัญของพื้นที่ให้แสดงความรู้สึกเคลื่อนไหวสัมพันธ์กับรูปคนและเรื่องราว
ศิลปินสำคัญลัทธิโรแมนติก
 เจอริโคลต์ (Gericault, Jean Louis Andrie Theodore,..1791-1824)
 เจอริโกต์เป็นชาวฝรั่งเศส เป็นผู้เริ่มต้นแนวทางศิลปะโรแมนติก เขาเคยศึกษาศิลปะตามแนวทางนีโอคลาสลิกมาก่อน จึงมีความสามารถในเชิงของกายวิภาค และการสร้างท่าทางมนุษย์อย่างแตกฉาน ภาพที่นำชื่อเสียงแก่เขาทันที คือ ภาพแพเมดูซา” (The Raft of the “Mdusa”)
เจอริโกลต์นำฉากประวัติศาสตร์การที่เรือฟรีเกตของฝรั่งเศสบรรทุกผู้หนีภัยการเมืองข้อหากบฏ เกิดอับปางกลางมหาสมุทร  เขาสร้างภาพแพเมดูซาจากการศึกษาประวัติศาสตร์ และการบอกเล่าของผู้รอดตายจากเหตุการณ์อย่างสะเทือนอารมณ์ผู้คน โดยเขียนภาพหลายสิบคนบนแพด้วยท่าทางต่างๆ กัน บางคนแสดงความหวัง บางคนท้อหมดอาลัยตายอยากและสิ้นหวัง

The Raft of the

Oil painting:The Raft of the "Medusa". 1818
(ที่มา http://www.arts-oilpaintings.com/painting_detail-6070.html)

ภาพคนทั้งหมดในแพแสดงลักษณะตามแบบอย่างงานของดาวิดซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นจริง แต่แสดงอารมณ์ความรู้สึกเกินจริงตามแนวทางแบบลัทธิโรแมนติก จากลักษณะทิศทางของกลุ่มคน การต้านแรงลม การตัดกันของมวลน้ำหนักในภาพคนกับน้ำ ฟ้า อากาศ ภาพนี้ จึงจัดว่ามีความสำคัญที่สุดของลัทธิโรแมนติก ที่ฉุดกระแสการสร้างสรรค์ผลงานแบบโรแมนติก แก่ศิลปินคนอื่นๆ อาทิ เดอลาครัว ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญของลัทธิโรแมนติกคนต่อมา (ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์. 2547)

เดอลาครัว (Delacroix,  Ferdinand Victor Eugene,..1798-1863)
เดอลาครัวร์เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงตั้งแต่อายุ 24 ปี เขาเป็นคนที่มีความพยายาม และมีความมุ่งมั่นสูง  ทำให้มีผลงานแนวโรแมนติกที่มีคุณภาพจำนวนมาก  เดอลาครัวยอมรับว่า ผลงานจิตรกรรมภาพแพเมดูซาของเจอริโคลต์เป็นแรงผลักให้เขาสนใจการสร้างานศิลปะตามแบบอย่างลัทธิโรแมนติก                     
ผลงานส่วนใหญ่ของเดอลาครัว  มักเป็นเรื่องราวของมนุษย์และสัตว์และเรื่องราวภายนอกประเทศ ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเดอลาครัวเป็นอย่างยิ่งคือ ภาพเขียนสีน้ำมันขนาดใหญ่ชื่อภาพ เสรีภาพนำหน้าประชาชน” (Liberty Leading The People) เขียนขึ้นในค..1830
รูปแบบผลงานของเดอลาครัวคือ การเปิดบริเวณว่างในพื้นที่ภาพ ผสานกับการสร้างความตื้นลึกของภาพด้วยการใช้แสงสะท้อนและเงาที่ขัดแย้งกัน เช่น ภาพความตายของชาร์ตานา พาลัสที่เขียนในปี ค..1844  ภาพดังกล่าวมักจะถูกนักวิจารณ์ศิลปะนำมาเปรียบเทียบเชิงการจัดภาพวาดกับภาพแพเมดูซาของเจอริโคลต์
อย่างไรก็ตาม ภาพความตายของชาร์ตานา พาลัส ก็จัดเป็นความสำเร็จในการวาดภาพที่เน้นบริเวณว่างได้อย่างงดงาม ในขณะที่ภาพแพเมดูซา คือ ตัวอย่างการจัดภาพแบบเฉียงอย่างมีชั้นเชิงอันสมบูรณ์แบบตามแนวศิลปะลัทธิโรแมนติก


File:Eugène Delacroix - La liberté guidant le peuple.jpg

Liberty Leading the People (1830), Louvre
(ที่มา http://en.wikipedia.org)

ศิลปะลัทธิสัจนิยม (Realism Art)
ครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19 สิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อวงการศิลปะ คือ กล้องถ่ายภาพของดาแกร์ ส่งผลให้จิตรกรเปลี่ยนการวาดภาพจากคติเดิมที่ยึดเนื้อหาทางประวัติศาสตร์เป็นหัวใจของการสร้างงานว่า  มีค่ามากกว่าการวาดภาพทิวทัศน์หรือหุ่นนิ่ง หันไปสร้างงานจาก             สิ่งที่สัมผัสได้โดยจักษุประสาทมากกว่าความเพ้อฝันจึงถูกเรียกว่า กลุ่มสัจนิยม หรือกลุ่มลัทธิ             เรียลิสม์ (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์.2547)
ศิลปะลัทธิสัจนิยมจึงเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ๆ มิใช่การจินตนาการถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หรือนิยายปรัมปรา  ซึ่งศิลปินไม่เคยเห็นดังที่ปรากฏในงานศิลปะลัทธินีโอ-คลาสลิกและลัทธิโรแมนติก ซึ่งถูกถือเป็นผลงานที่มีเพียงความเพ้อฝันเลื่อนลอยของอารมณ์และความรู้สึกปราศจากความจริง ส่งผลทำให้ศิลปินสนใจความเป็นจริงทางสังคมและวิถีชีวิตของผู้คนทุกชนชั้น   โดยเฉพาะชนชั้นล่างของสังคมที่ถูกเอาเปรียบ

คำประกาศและความเชื่อของลัทธิเรียลิสม์
1. จะเขียนเรื่องราวที่ตนไม่เคยเห็นด้วยตาไม่ได้ เพราะจะเป็นการทำให้จินตนาการหรือ       อดีตกาลมอมเมาชีวิตจริง
2. ศิลปะต้องถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและสังคมจริงๆ เช่น ความไม่เสมอภาค  ความแตกต่างชนชั้น
3. ศิลปะเป็นรากฐานสังคม ศิลปินจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบและช่วยเหลือสังคม โดย ยกสังคมให้สูงขึ้นในทิศทางที่เหมาะสมทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยผลงานศิลปกรรม
4. ความงามและความจริงอยู่ที่วัตถุและมนุษย์ ศิลปินต้องถ่ายทอดให้เป็นภาพอย่างถูกต้องชัดเจน

ศิลปินลัทธิสัจนิยม
คัวเบท์ (Gustave Courbet  ค..1819-1877) ชาวฝรั่งเศส เกิดในครอบครัวของชาวนาที่ปารีส   เริ่มศึกษาศิลปะด้วยการฝึกลอกงานของศิลปินมีชื่อเสียง โดยเฉพาะผลงานของเรมบรานท์ที่เขาชื่นชอบ  เขาเชื่อว่าศิลปินจะต้องถ่ายทอดสิ่งที่เป็นจริงทางสังคมให้ปรากฏอย่างเคารพในการสร้างงานใดๆ ความเชื่อดังกล่าว ทำให้คัวเบท์ปฏิเสธผลงานลัทธินีโอคลาสลิกและลัทธิโรแมนติกที่กำลังมีบทบาท  เพราะเขาเชื่อว่า  ลัทธินีโอคลาสลิกและลัทธิโรแมนติกเป็นศิลปะที่ไร้สาระไม่สามารถตอบสนองต่อการแก้ปัญหาทางสังคมที่อัปลักษณ์ คัวเบท์สนใจกิจกรรมทางสังคมและการเมือง เขาจึงเขียนภาพเกี่ยวกับวิถีชีวิตชนบทและชนชั้นต่ำ เช่น กรรมกรทุบหิน โดยเชื่อว่า ศิลปะจะกระตุ้นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์. 2547)


File:Gustave Courbet 018.jpg

Stone-Breakers (1849)
(ที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/File:Gustave_Courbet_018.jpg)

โกยา (Francisco Goya , ..1746-1828)
ชาวสเปน สร้างสรรค์ผลงานตามแนวทางลัทธิเรียลิสม์ด้วยความคิดทางการเมืองรุนแรงที่สุดคนหนึ่ง  สามารถเขียนภาพเหมือน ภาพกลุ่มคน ภาพการ์ตูน ภาพล้อเลียน และเป็นนักออกแบบไปพร้อมกัน มีทักษะในการเขียนภาพเหตุการณ์เหมือนจริงจากความชำนาญในการเขียนภาพเหมือนและภาพกลุ่มคนซึ่งเคยใช้เป็นอาชีพ
ผลงานสำคัญของเขา คือ ภาพวาดครอบครัวของชาร์ลส์ที่ 4  ขนาด 9 คูณ 11 ฟุต (ค..1800) เมื่อ เขาปรับเปลี่ยนความเชื่อทางศิลปะมาสู่การรับใช้สังคม และนำเสนอความอัปลักษณ์ที่ปรากฏจริงทางสังคม จึงใช้ทักษะนำเสนอเนื้อหาแนวใหม่จากการที่ฝรั่งเศสรุกรานประเทศสเปนมาเขียน ด้วยภาพขนาดใหญ่ในปี ค..1814 คือ ภาพ “The Third of May  1808 in MADRID” (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์. 2547)

File:Francisco de Goya y Lucientes 023.jpg

“The Third of May 1808 in MADRID”
(ที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/File:Francisco_de_Goya_y_Lucientes_023.jpg)

โดเมียร์ (Honore Daumier..1819-1877)
โดเมียร์เป็นศิลปินและนักปฏิวัติชาวฝรั่งเศสที่มีแนวคิดร่วมสมัยกับโกยา โดเมียร์มักจะเขียนภาพด้วยกลวิธีและรูปแบบศิลปะที่ปราศจากกฎเกณฑ์ตายตัว แต่เนื้อหาศิลปะในผลงานของเขาแทบทุกภาพแสดงออกถึงการวิจารณ์เชิงเสียดสีสังคม ซึ่งบางภาพก็แฝงอารมณ์ขันอยู่ไม่น้อย            โดเมียร์มีความสามารถในการเขียนการ์ตูนด้วย (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์. 2547)

File:Honoré Daumier 034.jpg

Le Wagon de troisiéme classe (The third-class wagon), 1864.
(ที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/File:Honor%C3%A9_Daumier_034.jpg)
มิลเลต์ (Jean Francois Millet ,..1814-1875)
มิลเลต์เป็นชาวฝรั่งเศส  เกิดในครอบครัวชาวนาเคร่งศาสนาในแคว้นนอร์มังดี                       มีความสามารถในการเขียนภาพเหมือนมากคนหนึ่ง ภาพ ชาวนาฝัดข้าวทำให้มิลเลต์ประสบความสำเร็จ  ต่อมาจึงได้เขียนภาพเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวนา ที่ตกเป็นเบี้ยล่างเจ้าของที่ดินหรือคนชั้นสูงอย่างจริงจัง เช่น   ภาพชาวนาหว่านข้าวและภาพคนเก็บข้าวตก

องค์ประกอบภาพของมิลเลต์
ผลงานของมิลเลต์มีการจัดองค์ประกอบภาพ โดยนิยมให้ภาพคนโดดเด่นและสำคัญกว่าทิวทัศน์  นักวิจารณ์ศิลปะกล่าวว่า มิลเลต์มีอารมณ์การแสดงออกค่อนข้างรุนแรง  เขาผูกพันและซาบซึ้งกับท้องนาเป็นพิเศษ
File:Millet Gleaners.jpg

The Gleaners, 1857. Musée d'Orsay, Paris.
(ที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/Jean-Fran%C3%A7ois_Millet)
      
ศิลปะลัทธิอิมเพรสชันนิสม์
ศิลปะลัทธิอิมเพรสชันนิสม์ปรากฏอย่างเป็นทางการในค..1874 เมื่อจิตรกรหนุ่มกลุ่มหนึ่งแสดงผลงานที่ห้องแสดงภาพของเนดาร์ (Nadar) ณ กรุงปารีส  สร้างความตื่นตระหนกและถูกประณามจากนักวิจารณ์ศิลปะแนวอนุรักษ์นิยมอย่างรุนแรง  โดยเฉพาะภาพเขียนที่มีชื่อว่า Impression, Sunrise หรือภาพ ความประทับใจพระอาทิตย์ยามอรุณ ที่โมเนต์เขียนค..1872                 ในนิทรรศการ เป็นภาพเขียนอัปลักษณ์หยาบกระด้าง”  นักวิจารณ์เรียกอย่างประชดประชันว่า       กลุ่ม Impression  จากชื่อภาพเขียนของโมเนต์ (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์. 2547)
เมื่อถูกเรียกว่า “พวก Impressionism” กลับแสดงความยินดีและน้อมรับชื่อมาเป็นชื่อกลุ่มหรือลัทธิศิลปะ คือ ลัทธิอิมเพรสชันนิสม์ หลังจากนั้นไม่นานนักศิลปะลัทธิอิมเพรสชันนิสม์ก็เป็นที่นิยมกว้างขวาง กลายเป็นรูปแบบศิลปะที่ได้รับการยอมรับแนวทางหนึ่งของโลก
นักประวัติศาสตร์ศิลปะกลุ่มหนึ่งเห็นว่า อิมเพรสชันนิสม์เป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะสมัยใหม่ เพราะเปลี่ยนจากสร้างงานด้วยการเกลี่ยสีเรียบมาเป็นแบบป้ายสี เพื่อให้สีผสมผสานกันในสายตาผู้ดู สนใจมิติทางสุนทรียศาสตร์ ด้านรูปทรงที่มีต่อการสร้างสรรค์และความชื่นชม แทนเนื้อหาศิลปะของศิลปะชัดเจนกว่าลัทธิศิลปะอื่นๆในอดีต

วิวัฒนาการของศิลปะลัทธิอิมเพรสชันนิสม์
ศิลปะลัทธิอิมเพรสชันนิสม์วิวัฒนาการมาจากศิลปะลัทธินีโอ-คลาสสิก ลัทธิโรแมนติกและลัทธิเรียลิสม์แล้วกลายเป็นลัทธิอิมเพรสชันนิสม์ จากความเบื่อหน่ายของศิลปินต่อศิลปะลัทธินีโอ-คลาสสิก ซึ่งสร้างสรรค์งานใต้กรอบความงามตามหลักการจัดภาพแบบเดิม ไม่ท้าทายเสรีภาพการแสดงออกของศิลปินยุคใหม่ จากผลของการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมและความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
เดิมศิลปินที่เคยได้รับการอุปการะจากวัดและผู้ปกครองประเทศ แล้วเปลี่ยนมาอยู่ใต้ดูแลของสังคมสมาคมช่าง (Guild) ภาค เอกชน และนักสะสมศิลปะแทน ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับรู้จากโลกภายนอกได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้นคว้าทดลองด้านจิตวิทยา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความสะดวกในการคมนาคมและการติดต่อสื่อสาร ทำให้โลกตะวันตกรู้จักโลกตะวันออกกว่าเดิม โดยงานของศิลปินตะวันออกเป็นส่วนเสริมปัญญาและความคิดของศิลปินตะวันตกมาก ขึ้นจากการแสดงนิทรรศการศิลปะญี่ปุ่นในยุโรปเมื่อ ค..1876
ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นส่งผลให้ศิลปินแบ่งเป็น 2 พวก           พวกหนึ่งสนใจที่จะรักษาแบบแผนเดิม พวกหนึ่งสนใจที่จะเสาะหาลักษณะรูปแบบศิลปกรรมใหม่ เพื่อแสดงแบบใหม่กลายเป็นสาเหตุสนับสนุนให้ลัทธิอิมเพรสชันนิสม์ปรากฏขึ้นขยายตัวในฝรั่งเศสและยุโรปอย่างรวดเร็ว ความเชื่อทางศิลปะของลัทธิอิมเพรสชันนิสม์มีดังนี้
1. ความประทับใจครั้งแรกมีคุณค่าที่สุดจะต้องแสดงให้ปรากฏด้วยวิธีใดก็ตาม
2. การรับรู้ของมนุษย์ที่สร้างให้เกิดความประทับใจขึ้นอยู่กับแสงและเงา มนุษย์จะมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ เพราะแสงกับเงา
3. สีเป็นเรื่องของความรู้สึก รสนิยม และความจริงใจ มีความสำคัญยิ่งในการแสดงออกทางศิลปะ ถ้าปราศจากสีแล้วศิลปะจะไม่เกิด ความสำคัญของผิวหน้า (Texture) ก็มีคุณค่าไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
4. เรื่องที่เห็นด้วยตา มีคุณค่ากว่าเรื่องที่ไม่เคยเห็นและเรื่องที่เกี่ยวกับเหตุการณ์จริง ยิ่งมีคุณค่าสูงขึ้น
5. ธรรมชาติให้เพียงวัตถุดิบ มนุษย์เป็นผู้ปรุงแต่งวัตถุดิบ ด้วยความรู้สึกประทับใจ ทักษะและความคิดสร้างสรรค์
6. การตัดทอนให้เหมาะสม ถือว่าจำเป็น และมีคุณค่าสูง เหมือนพูดสั้นๆ แต่ได้ใจความหลักการทางศิลปะของลัทธิอิมเพรสชันนิสม์
ศิลปินกลุ่มอิมเพรสชันนิสม์ เข้าถึงการแสดงออกเรื่องแสง โดยใช้หลักทฤษฏีแสงอาทิตย์มาช่วยให้สีกระจ่างสดใสยิ่งขึ้น พวกเขาเขียนภาพภายใต้การผสานกันด้านรูปทรงที่เกิดขึ้นด้วยสี แสงและเงา แสงสะท้อนและเงาที่ตกทอด รวมถึงการนำหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบมาผสานกับลัทธิธรรมชาตินิยม (Naturalism) ผนวกเข้ากับความสามารถเฉพาะของศิลปินแต่ละคน ทำให้มีการแสดงออกทางศิลปะโดยไม่บังคับตนเอง และปลดปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง ให้แสดงออกอย่างอัตโนมัติ (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์. 2547)

ศิลปินลัทธิอิมเพรสชันนิสม์
ศิลปินกลุ่มอิมเพรสชันนิสม์ได้แก่ มาเนต์ (Manet) โมเนต์ (Monet) ปิซาโร (Pissaro) เรอนัวร์ (Renoir) เดกาส์ (Degas) ซีสลี (Sisley) ทูลูส โลเทรค (Toulouse Lautrec) โรแดง (Rodin)

อีดูวาร์ด มาเนต์ (Edouard Manet, ..1832-1883)
ชาวฝรั่งเศสเกิดในครอบครัวฐานะดี ได้รับยกย่องเป็นผู้นำกลุ่มลัทธิอิมเพรสชันนิสม์ จากผลงานชื่อ อาหารกลางวันบนพื้นหญ้าแสดงในค..1863 (ภาพหญิงเปลือยกายนั่งอยู่กับชายหนุ่มที่แต่งกายเรียบร้อย ) ถูกวิจารณ์รุนแรงแต่ศิลปินหัวก้าวหน้ากลับชื่นชมว่า มาเนต์เป็นวีรบุรุษและนักบุกเบิกทางศิลปะ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับการสร้างสรรค์ศิลปะอิมเพรสชันนิสม์  ผลงานชิ้นสำคัญอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ (ปารีส) คือ โอลิมเปีย” (Olympia, ..1865) “คนเป่าขลุ่ย” (The Fifer,..1868) “อีมิล โซลา” (Emile Zola, ..1868)  

File:Manet, Edouard - Olympia, 1863.jpg

Olympia Édouard Manet, 1863.Oil on canvas 130.5 cm × 190 cm
(51.4 in × 74.8 in) Musée d'Orsay, Paris
(ที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/File:Manet,_Edouard_-_Olympia,_1863.jpg)
โคลด โมเนต์ (Claude Monet, ..1840 – 1926)
เป็นศิลปินที่มีสามารถสูงและฉลาดในการเรียนรู้จากแหล่งต่างๆ โมเนต์สนิทกับมาเนต์ รวมทั้งมีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนะกับศิลปินที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก “ภาพประทับใจ พระอาทิตย์        ยามอรุณ” ผลงานของโมเนต์ (..1872) เป็นที่มาของนามกลุ่มลัทธิศิลปะอิมเพรสชันนิสม์      
โมเนต์ เขียนภาพพระอาทิตย์กำลังจับขอบฟ้ายามรุ่งเช้า ด้วยการป้ายพู่กันอย่างรวดเร็ว และไม่ต้องการแสดงรายละเอียดมากไปกว่าบรรยายกาศ แสง สี และเงาตอนเช้า ผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องจากสาธารณชนในช่วงท้ายของชีวิต โมเนต์ถึงแก่กรรมเมื่อค..1962 อายุ 86 ปี ทิ้งผลงานชิ้นเยี่ยมไว้จำนวนมาก ผลงานสำคัญ คือ ภาพ ผู้หญิงในสวนและความประทับใจพระอาทิตย์ยามอรุณ (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์. 2547)


File:Claude Monet, Impression, soleil levant, 1872.jpg


Claude Monet, Impression, soleil levant, 1872.
(ที่มา www.wikipedia.org/wiki/File:Claude_Monet,_Impression,_soleil_levant,_1872.jpg)


ปิแอร์ ออกุสต์ เรอนัวร์ (Piere Auuse Renoir)
เรอนัวร์ศึกษาศิลปะจากการชมผลงานในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์และจากการสอนของเกลแยร์ ทำให้ได้พบจิตรกรแกนนำคนสำคัญลัทธิอิมเพรสชันนิสม์ คือ โมเนต์ ซีสลี และบาชีย์
เรอนัวร์เป็นศิลปินที่มีความสามารถสูงในการเขียนภาพคนและแง่มุมทัศนียวิทยาของสถาปัตยกรรมและทิวทัศน์ เขาใช้สีได้อย่างสดใส มีบรรยากาศใสสะอาดราวกับสิ่งต่างๆเป็นของเหลว ระยะหลังเขาได้สร้างงานประมากรรมแนวอิมพรสชันนิสม์จนกลายเป็นแบบฉบับของประติมากรรมสมัยใหม่ของวงการประติมากรรมสากลปัจจุบัน  ผลงานของเรอนัวร์จัดว่ามีราคาสูงสุดคนหนึ่งในโลก (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์. 2547)

File:Auguste Renoir - La Balançoire.jpg


The Swing (La Balançoire), 1876, oil on canvas, Musée d'Orsay, Paris
(ที่มาwww.wikipedia.org/wiki/File:Auguste_Renoir_-_La_Balan%C3%A7oire.jpg)

โรแดง (August Rodin,..1840-0917)
ได้รับยกย่องเป็นประติมากรที่แท้จริงของคริสตวรรษที่ 19 มีวิธีการปั้นเน้นส่วนที่ต้องแสดงออก และรักษาส่วนที่น่าสนใจของวัตถุที่นำมาใช้ปั้นให้คงเดิมไว้ เช่น ผลงานประติมากรรมสลักหินชื่อ จูบ” (The Kiss) โรแดงแสดงความสมบูรณของร่างกายและท่าทางของหญิงชายประกอบกับการแสดงอารมณ์รักได้อย่างสุดซึ้ง ผลงานของเขาอธิบายประติมากรรมแบบอิมเพรสชันนิสม์ได้เป็นอย่างดี (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์. 2547)

    File:Rodin TheKiss 20050609.JPG         


  The Kiss
ที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/File:Rodin_TheKiss_20050609.JPG

ศิลปะลัทธินีโอ-อิมเพรสชันนิสม์  (Neo – Impressionism Art)
คำว่า นีโออิมเพรสชันนิสม์เป็นคำที่เฟลิกซ์ เฟเนออง (Felix Fénéon ..1861-1944) นักเขียนและนักวิจารณ์ศิลปะชาวฝรั่งเศสใช้เป็นชื่อบทความว่า “Neo –Impressionism Art” ในนิตยสารชื่อ “L Art Moderme” ฉบับเดือนพฤษภาคม ค..1887

ลัทธินีโอ-อิมเพรสันนิสม์เกิดจากอะไร
ลัทธินีโอ-อิมเพรสชันนิสม์ เกิดจากผลสะท้อนของลัทธิอิมเพรสชันนิสม์  กล่าวคือ ขณะที่ลัทธิอิมเพรสชันนิสม์ กำลังลดบทบาทลง ศิลปะนีโอ-อิมเพรสชันนิสม์ก็ได้แสดงบทบาทเด่นชัดขึ้นมาแทน  ผู้นำลัทธินีโอ-อิมเพรสชันนิสม์นี้ คือ เซอราท์กับซียัค ซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวทางศิลปะลัทธิอิมเพรสชันนิสม์ ที่มุ่งมั่นแสดงออกด้วยรูปทรงอันเลือนราง เสมือนสรรพสิ่งและสรรพธาตุไร้ความหมาย  (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์. 2547)

แนวคิดของเซอราท์และซียัค
เซอราท์และซียัค ไม่เห็นด้วยกับประกายแสงบนพื้นภาพที่กระจายตัวไม่เด่นชัด เพราะการนำสีและแสงจากสเปกตรัมในอากาศที่ได้รับการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ของนิวตัน มาสร้างความสัมพันธ์กับวัตถุบนพื้นภาพของผลงานจิตรกรรมนั้น  ควรจะให้สีและแสงได้แสดงคุณสมบัติที่เด่นชัดกว่านี้ และพวกเขายังเชื่อว่า ศิลปินควรจะแสดงคุณสมบัติของสีและพลังสั่นสะเทือนของแสงให้ปรากฏ

กลวิธีทางศิลปะของศิลปินกลุ่มนีโอ-อิมเพรสชันนิสม์
ศิลปินกลุ่มนีโอ-อิมเพรสชันนิสม์แสดงความเชื่อทางศิลปะผ่านกลวิธีศิลปะด้วยการประสานอนุภาคของสีที่ถูกแตะแต้มเป็นจุดเล็กๆ ตามหลักทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่ว่า แสงคืออนุภาคของสีเรียกว่าเทคนิคแบบ Pointillism” ความแตกต่างระหว่างจิตรกรรมลัทธิอิมเพรสชันนิสม์กับลัทธินีโออิมเพรสชันนิสม์
นอกจากการพัฒนารอยพู่กันไปสู่การแต้มสีเป็นจุดเล็กๆของกลุ่มนีโอ-อิมเพรสชันนิสม์ เพื่อให้สีและน้ำหนักสีที่ตัดกันมากขึ้นจนเกิดประกายแสงกระจ่างชัดแล้ว ในส่วนของรูปทรงวัตถุบนพื้นภาพ ก็ได้รับการเน้นให้เด่นชัดกว่าลัทธิอิมเพรสชันนิสม์ โดยใช้โครงสร้างเรขาคณิตเข้ามาช่วยกราย ๆ เพื่อให้มีการผสานสัมพันธ์กับวิธีการระบายสีเป็นจุดเล็กๆ ที่ไม่เหมาะสมต่อการระบายหรือสร้างรูปทรงที่ซับซ้อน (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์. 2547)
ศิลปินลัทธินีโอ-อิมเพรสชันนิสม์
นอกจากเซอราต์และซียัคแล้ว ยังมีแม็กซิมิเลียน ลูซ (Maximilien Luce,..1858-1941) อังรี เอ็ดมองค์ กรอส (Henry Edmond Gross,..1856-1910) และคามิล ปีสซาโร (Camille Pissarro ) (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์. 2547)

จอร์จ ปีแอร์ เซอราต์ (Georges PierreSeurat,..1850-1891)
เซอราต์ ศึกษา ศิลปะที่มีแบบแผนกับศิลปินและด้วยการคัดลอกผลงานศิลปินสำคัญสมัยฟื้นฟู ศิลปวิทยาการ ผสานไปกับการค้นคว้าเกี่ยวกับทฤษฏีของแสงอาทิตย์อย่างละเอียดและจริงจังทำ ให้ผลงานในระยะแรกของเขามีลักษณะเป็นแบบลัทธินีโอ-อิมเพรสชันนิสม์

File:Seurat-La Parade detail.jpg


Detail from La Parade (1889) showing pointillism  ของ Georges PierreSeurat,
(ที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/Georges_Seurat)

พอล ซียัค (Paul Signac,..1863-1935)        
ชาวปารีสโดยกำเนิด  ได้รับแรงบันดาลใจจากการเข้าชมงานนิทรรศการจิตรกรรมของโมเนต์ และการแนะนำจากโมเนต์  เริ่มต้นด้วยการสร้างจิตรกรรมตามแนวลัทธินีโออิมเพรสชันนิสม์ทันที ซียัคเป็นศิลปินที่มีความเฉลียวฉลาดและมีความเพียรพยายามสูง ประสบความสำเร็จในการทำงานศิลปะจนได้รับรางวัลหลายรางวัล

File:Signac2.jpg
Breakfast, Paul Signac, 1886-1887
(ที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/Paul_Signac)


ศิลปะลัทธิโพสท์-อิมเพรสชันนิสม์
Post – Impresionism  มีความหมายว่า ลัทธิอิมเพรสชันนิสม์ยุคหลัง อันเป็นลัทธิศิลปะที่แสดงปรากฏการณ์ในช่วงหลังศิลปะลัทธิอิมเพรสชันนิสม์
โรเจอร์ ฟราย นักวิจารณ์ศิลปะที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ เป็นผู้ให้ชื่อลัทธินี้จากการเรียกนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะของศิลปินกลุ่มนี้ที่กราฟตัน แกลเลอรี่ ในกรุงลอนดอน เมื่อ                   ปีค..1910

ศิลปินโพสท์-อิมเพรสชันนิสม์ต่างจากศิลปินลัทธิอิมเพรสชันนิสม์กลุ่มอื่น คือ ศิลปินแต่ละคนต่างทำงานตามแนวความคิดความเชื่อมั่นส่วนตัว โดยไม่มีความสัมพันธ์เชิงกลุ่มหรือองค์กรระหว่างกัน เพียงมีความเชื่อทางศิลปะคล้ายคลึงกัน คือ เน้นการแสดงออกโดยเน้นรูปทรงสี ภายใต้การสำแดงอารมณ์ภายในให้ปรากฏออกมา ซึ่งในที่สุดแล้วศิลปินแต่ละคนจะสร้างสรรค์ผลงานที่มีลักษณะรูปแบบแตกต่างกันออกไป (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์. 2547)

ผลงานศิลปะลัทธิโพสท์-อิมเพรสชันนิสม์แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1. กลุ่มที่เน้นการแสดงออกด้านอารมณ์ (Emotional aspect) มีแวนโกะกับ โกแกงเป็นหลัก
2.กลุ่มที่เน้นความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางศิลปะ อันเป็นการพัฒนาโครงสร้างทางรูปทรงและสีสัน โดยศิลปินแต่ละคนสร้างสรรค์แตกต่างกันออกไปด้วย
ศิลปินกลุ่มโพสท์-อิมเพรสชันนิสม์ค่อนข้างจะโชคดีกว่ากลุ่มอื่น เพราะได้รับการส่งเสริมจากนักวิจารณ์ศิลปะสำคัญของอังกฤษคือ โรเจอร์ ฟราย กับ คลิฟ เบลล์ ซึ่งจุดกระแสศิลปะโพสท์-อิมเพรสชันนิสม์ในอังกฤษให้ตื่นตัว 

ศิลปินลัทธิโพสท์-อิมเพรสชันนิสม์
พอล เซซานน์ (Paul Cezanne, ..1839-1906)
ชาวฝรั่งเศส ฐานะค่อนข้างดี เรียนกฎหมายก่อนจะศึกษาศิลปะจริงจัง ศรัทธาและชื่นชมในชีวิตและผลงานของโมเนต์กับปิสซาร์โร

ความเชื่อของเซซานน์
การวาดเส้นกับการระบายสีมีความคล้ายคลึงกัน ขณะที่เขาระบายสี เขาก็ได้วาดเส้นไปพร้อมกัน  การประสานสัมพันธ์ของสีมีมากเท่าไร ความกลมกลืนกันก็มีมากเท่านั้น สียิ่งสดใสเท่าใด ภาพก็จะยิ่งเด่นชัดขึ้นเช่นกัน
เซซานน์ได้ละทิ้งวิชาทัศนียภาพและเสนออันแตกต่างไปจากเดิมคือ ให้สีเป็นผู้กำหนดความลึกตื้นหรือระยะใกล้ไกล แทนเส้น (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์. 2547)


File:Paul Cézanne, Les joueurs de carte (1892-95).jpg


The Cardplayers หรือ Les joueurs de carte (1892-95). an iconic work by Cézanne (1892).
(ที่มาhttp://en.wikipedia.org/wiki/File:Paul)
วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent Van Gogh, ..1853-1890)
บุตรชายของพระนิกายโปรเตสแตนท์ชาวฮอลันดา เป็นคนที่เอาจริงเอาจังกับการใช้ชีวิตมาตั้งแต่เด็ก ได้รู้จักกับจิตรกรร่วมสมัยกันหลายคน อาทิ โลแทรค  เบอร์นาร์ด และโกแกงเขาใช้ชีวิตแบบเพื่อนกับโกแกงช่วงหนึ่ง แต่ความเห็นไม่ลงรอยกันถึงกับทะเลาะวิวาทกัน ความขัดแย้งอย่างรุนแรงดังกล่าวมีส่วนทำให้แวนโกะมีจิตผิดปกติ ทำให้ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลโรคจิต อีกสองปีต่อมา แวนโกะก็ปลิดชีพตนเองด้วยปืน (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์. 2547)

พัฒนาการของผลงานแวน โก๊ะ
ระยะแรกผลงานของแวน โก๊ะสะท้อนภาพชีวิตที่หม่นหมองและแสดงออกแบบ              ลัทธิเรียลิสม์ คือ แสดงออกไปในทางมนุษยธรรมและเห็นใจคนจน เช่น  ภาพ คนกินมัน”               เมื่ออพยพไปอยู่ฝรั่งเศส เขาได้ความคิดและเทคนิควิธีการจากศิลปินกลุ่มอิมเพรสชันนิสม์นีโอ-          อิมเพรสชันนิสม์ รวมทั้งภาพพิมพ์ของญี่ปุ่นด้วย ผลงานของมิลเลต์และเดอลาครัว ทำให้งานของแวน โก๊ะเปลี่ยนแปลงขึ้นมา เริ่มใช้แปรงแต้มรอยสีหนาและริ้วรอยแปรง ให้มีการแสดงออกถึงความรุนแรงของอารมณ์อย่างที่สุด ทำให้นักวิจารณ์ศิลปะบางคนชี้ว่า เขาวิกลจริตโดยดูจากผลงานช่วงสุดท้ายของชีวิต เช่น ภาพราตรีประดับดาว แสดงให้เห็นความเคลื่อนไหวที่รุนแรงของรอยแปรง ทิศทางอันกลมกลืนของท้องฟ้าตัดกับต้นสนระยะใกล้ แวน โก๊ะกล่าวว่า เมื่อเขาเขียนภาพราตรีประดับดาวเสร็จก็เดินทางไปโบสถ์ทันที (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์. 2547)
ผลงานทุกชิ้นของแวน โก๊ะมีคุณค่าและราคาสูงที่สุดคนหนึ่งของโลก จากการแสดงออกด้านฝีแปรงที่เด็ดเดี่ยว แฝงปรัชญา และแนวคิดต่างๆ ไว้มาก เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่เขาเป็นศิลปินที่ไม่มีชื่อเสียงและมีความเป็นอยู่แร้นแค้น อดมื้อกินมื้อ และขายภาพได้เพียงภาพเดียวเท่านั้น เขาก็ไม่เคยได้ชื่นชมกับชื่อเสียงและความมั่งคั่งจากผลงานของตนเลย
ผลงานที่ได้รับการยกย่องว่าเยี่ยมยอด มี 3 ภาพ คือ  ภาพ คนกินมันปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์แวน โก๊ะ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ภาพ ใบหน้าของศิลปินอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ประเทศฝรั่งเศสและภาพ ดอกทานตะวัน
      Vincent van Gogh's Still Life: Vase with Fifteen Sunflowers Painting    Vincent van Gogh's Starry Night Painting
คนกินมัน                          ดอกทานตะวัน                   ราตรีประดับดาว
(ที่มาhttp://shyo2.multiply.com/reviews/item/3และhttp://www.vangoghgallery.com/)
แวน โก๊ะวาดภาพดอกทานตะวันไว้ 4 ภาพ เป็นภาพดอกทานตะวัน 3 ดอก 5 ดอก 12 ดอก และ 14 ดอก รวม 4 ภาพ ต่อมาเขาได้คัดลอกภาพดอกทานตะวัน 12 ดอกไ 1 ภาพ และคัดลอกดอกทานตะวัน 14 ดอกไว้อีก 1 ภาพ ซึ่งภาพหลังนี้เขาคัดลอกเพื่อมอบให้แก่โกแกง ดังนั้นจึงมีภาพดอกทานตะวันทั้งหมด 6 ภาพ ภาพดอกทานตะวันที่มีชื่อเสียงของเขา คือภาพดอกทานตะวัน12ดอกและ14ดอก (www.geocities.com/saravut_ohm/vangogh.htm)

พอล โกแกง (Paul Gauguin,..1848-1903)
ชาวปารีส มีฐานะร่ำรวยจากอาชีพค้าขายหุ้น แต่ในที่สุดก็หันมาใช้เวลาในชีวิตเขียนภาพตั้งแต่ ค..1883   โกแกงมีความคิดบางอย่างคล้ายกับแวนโกะ คือ ฝันถึงการรวมกลุ่มจิตรกรตั้งเป็นนิคมและมีห้องทำงานอันอบอุ่นทางภาคใต้ของฝรั่งเศส 

ความสนใจของโกแกง
สนใจศิลปะของคนพื้นเมืองและศิลปะของสามัญชน เขาเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมยุโรปมาจากนิทานพื้นบ้าน  เขาได้ศึกษาเครื่องปั้นดินเผาของชาวตะวันออกและชนเผ่าแอสเต็ค                ซึ่งแสดงความรู้สึกออกมาราวกับนิยายอันลึกลับ มีการสร้างรูปทรงที่ผิดแปลกไปจากธรรมชาติ                 โดยแสดงออกมาในรูปทรงที่ผันแปรไปตามความต้องการ และนำรูปทรงต่าง ๆ ของศิลปะชนเผ่ามาพัฒนาในงานของตน (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์. 2547)

File:Woher kommen wir Wer sind wir Wohin gehen wir.jpg

Where Do We Come From? What Are We? Where Are We Going?  1897,                             oil on canvasBoston Museum of Fine Arts, Boston, MA, USA
(ที่มาhttp://en.wikipedia.org/wiki/Paul_Gauguin)


ทูลูส โลเทรค (Henri de Toulouse – Lautrec,..1864-1901)
เป็นบุตรของขุนนางชั้นสูง ประสบอุบัติเหตุขาหักและตกม้าจนพิการตลอดชีวิต  จนมีร่างกายเตี้ยแคระแกรนไม่เติบโต  เขามีความเฉลียวฉลาดในการศึกษาทุกด้าน  เขาเลือกศึกษาศิลปะแนวหลักวิชาเป็นการเบื้องต้น  ในระยะหลังเขาได้หันมาสร้างงานแบบโพสท์อิมเพรสชันนิสม์
การใช้ชีวิตและทำงานในย่านมองมาร์ต แหล่งชุมนุมศิลปิน และสถานเริงรมย์ถึง 13 ปี ทำให้รู้จักกับศิลปินหลากหลาย รวมทั้งแวนโกะมีโอกาสได้เห็นผลงานภาพพิมพ์ดีๆ ของญี่ปุ่น ซึ่งให้อิทธิพลต่อเขาในระยะต่อมาอย่างมาก
โลเทรคพัฒนารูปแบบที่เป็นของตนเองอย่างจริงจังใน ค..1885 เมื่อเขาเลือกหยิบเอาชีวิตคาบาเรต์ ชื่อ เลอ มิร์เลตอง-Le Mirleton” แห่งย่านมองมาร์ต(Mont mart)เป็นแกนหลักในผลงาน โดยโลเทรคเข้าไปเป็นขาประจำจนสนิทสนมกับเจ้าของคาบาเรต์ ทำให้เขาสามารถใช้เวลาวาดภาพชีวิตบุคคลต่างๆ ในยามราตรีได้เต็มที่ และรับหน้าที่ออกแบบโฆษณาให้สถานเริงรมย์แห่งใหม่นี้ด้วย นางระบำและนักเต้นระบำหลายคนก็เคยเป็นแบบในภาพโปสเตอร์ให้กับโลเทรค
ผลงานของทูลูส โลเทรคเต็มไปด้วยชีวิตชีวา สร้างงานเท่าที่สังเกตเห็นได้ในสิ่งต่างๆ และเสนอออกอย่างตรงไปตรงมา การใช้เส้นก็เป็นไปอย่างสละสลวย มีอิสระยิ่ง ส่วนวิธีระบายสีนั้นเขาใช้สีน้ำมันผสมกับน้ำมันจนเหลว และระบายสีให้ฉ่ำคล้ายสีน้ำ ล้วนเป็นลักษณะพิเศษ ทูลูส โลเทรค ที่แสดงให้เห็นความสนใจในร่างที่เคลื่อนไหว ดังเช่น ภาพชีวิตคนในสถานเริงรมย์                ภาพเหล่านั้นมีลีลาแสดงกิริยาอารมณ์ได้อย่างดียิ่ง (ศุภชัย  สิงห์ยะบุศย์. 2547)
ในเดือนมกราคม 1901 ทูลูส โลเทรคล้มป่วย ถูกนำตัวส่งสถานพักฟื้นคนเจ็บที่เมืองอิลลี และเขาได้วาดภาพความทรงจำเกี่ยวกับการเล่นละครสัตว์ด้วยกรรมวิธีวาดเส้น อันเป็นผลงานชุดที่มีเสียงมากที่สุดชุดหนึ่ง แม้ว่าร่างกายจะยังไม่แข็งแรงพอ เขาก็ออกจากสถานพักฟื้นในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน และสิ้นชีวิตในอ้อมกอดของมารดา เมื่ออายุ 37 ปี ทำให้วงการศิลปะสูญเสียจิตรกรสำคัญคนหนึ่งซึ่งได้ชื่อว่า ไม่มีทฤษฎี ไม่มีการบันทึกถึงความสามารถด้านสุนทรียภาพใหม่ๆ  ผลงานที่เขาสร้างขึ้นนั้นเป็นการ บันทึกสิ่งที่เขาเห็นและเข้าใจ ปราศจากความคิดเห็น ไม่มีความสงสาร ไม่มีอารมณ์รู้สึก ไม่มีการกล่าวหา และไม่มีการส่อเสียดใดๆ

File:Lautrec at the moulin rouge two women waltzing 1892.jpg   


ภาพกลางชื่อ At the Moulin Rouge: Two Women Waltzing  ภาพขวา Salon at the Rue des Moulins    (ที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/Henri_de_Toulouse-Lautrec)








แบบฝึกหัดบทที่ 7

จงตอบคำถามต่อไปนี้

1. ศิลปะลัทธินีโอ-คลาสสิก หมายถึง อะไร
ตอบ ________________________________________________________________
____________________________________________________________________
2. ความตื่นเต้นจากการขุดค้นเมืองอะไรสมัยโรมันซึ่งผลักดันให้เกิดผลักดันการเกิดศิลปะนีโอ-คลาสสิก
ตอบ ________________________________________________________________
3. ศิลปินคนกล่าวว่า ศิลปะ คือ ดวงประทีปของเหตุผลซึ่งต่อมากลายเป็นความเชื่อของศิลปะ
ตอบ ________________________________________________________________
4. ศิลปะลัทธินีโอ-คลาสสิก มีแนวทางในการสะท้อนผลงานทางศิลปะอย่างไร
ตอบ ________________________________________________________________
5. ผลงานของดาวิดชื่อ คำสาบานของพวกฮอราติไอต้องการสะท้อนแนวคิดอะไรแก่ผู้ชม
ตอบ ________________________________________________________________
6. ภาพเขียนชื่อ โรงพยาบาลโรคระบาดที่เจฟฟา เป็นผลงานของใคร
ตอบ ________________________________________________________________
7. ในขณะที่ศิลปะลัทธินีโอ-คลาสลิก คำนึงถึงความถูกต้องตามหลักการและกฏเกณฑ์ทางศิลปะ แต่ลัทธิโรแมนติกกลับยึดถือและให้ความสำคัญต่อสิ่งใด
ตอบ ________________________________________________________________
8. ภาพแพเมดูซา” (The Raft of the “Medusa”) เป็นผลงานของใคร
ตอบ ________________________________________________________________
9. ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเดอลาครัวเป็นอย่างยิ่งชื่อว่าอะไร
ตอบ…………………………………………………………………………………..
10. แนวทางการสร้างสรรค์ผลงานในศิลปะลัทธิสัจนิยมเน้นเรื่องใดเป็นสำคัญ
ตอบ ________________________________________________________________
____________________________________________________________________
11. ศิลปะลัทธิอิมเพรสชันนิสม์ปรากฏอย่างเป็นทางการเมื่อใดและส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง
ตอบ …………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

12. ศิลปินที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำของกลุ่มอิมเพรสชันนิสม์ คือ ใคร        
ตอบ ________________________________________________________________
13. อิมเพรสชันนิสม์เป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะสมัยใหม่ เพราะเปลี่ยนจากเทคนิคสร้างงานด้วยการเกลี่ยสีเรียบมาเป็นเทคนิคอย่างไร
ตอบ ________________________________________________________________
____________________________________________________________________
14. ศิลปินลัทธิอิมเพรสชันนิสม์ที่มีความสามารถสูงในการเขียนภาพคนและแง่มุมทัศนียวิทยาของสถาปัตยกรรมและทิวทัศน์ โดยใช้สีได้อย่างสดใส มีบรรยากาศใสสะอาดราวกับสิ่งต่างๆเป็นของเหลว คือ ใคร
ตอบ ________________________________________________________________
15. ศิลปะลัทธิโพสท์-อิมเพรสชันนิสม์แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่กลุ่มใดบ้าง
ตอบ ________________________________________________________________
____________________________________________________________________
16. ผู้สนับสนุนศิลปินกลุ่มโพสท์-อิมเพรสชันนิสม์คือใคร
ตอบ ________________________________________________________________
17. ความเชื่อในการสร้างสรรค์งานของพอล เซซานน์ (Paul Cezanne, ..1839 – 1906) เป็นอย่างไรบ้าง        
ตอบ ________________________________________________________________
____________________________________________________________________
____________________________________________________________________
18. แวนโก๊ะมีพัฒนาการในการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะอย่างไร
ตอบ ________________________________________________________________
____________________________________________________________________
____________________________________________________________________
____________________________________________________________________
19. ผลงานที่ได้รับการยกย่องว่าเยี่ยมยอดของแวนโก๊ะ มี ๓ ภาพ คือ ภาพชื่ออะไรบ้าง
ตอบ ________________________________________________________________
____________________________________________________________________
____________________________________________________________________
20. เมื่อกล่าวถึงจิตรกรสำคัญคนหนึ่งซึ่งได้ชื่อว่าสร้างสรรค์ผลงานแบบไม่มีทฤษฎี ไม่มีการบันทึกถึงความสามารถในด้านบุกเบิกสุนทรียภาพใหม่ๆ โดยผลงานที่เขาสร้างขึ้นนั้นเปรียบเสมือนการ บันทึกสิ่งที่เขาเห็นและเข้าใจ โดยปราศจากความคิดเห็น ไม่มีความสงสาร ไม่มีอารมณ์รู้สึกไม่มีการกล่าวหา และไม่มีการส่อเสียดใดๆ ข้อความข้างต้นนี้หมายถึงศิลปินคนใด
ตอบ _____________________________