วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บทที่ 2

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร
อารยธรรมในเอเชียไมเนอร์และแอฟริกาเหนือ

: รากเหง้าความเจริญของชาวตะวันตก


แผนที่แสดงแหล่งอารยธรรมในเมโสโปเตเมียและอียิปต์

(Edward Lucie-Smith, 1992, 29)



รากเหง้าดั้งเดิมของอารยธรรมตะวันตกในแอฟริกาเหนือและเอเชียไมเนอร์ ก่อตัวขึ้นเมื่อประมาณ 4,000 ปี ก่อนคริสตศักราช (4,000 B.C.) ในพื้นที่สำคัญ 2 ภูมิภาค คือ ดินแดนเมโสโปเตเมีย (Mesopotemia) ในลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส (Tigris-Eufrates) ในเอเชียไมเนอร์(หรือตะวันออกกลาง) ปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศอิรักและซีเรียและที่อาณาจักรอียิปต์แห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ (Nile) ในแอฟริกาเหนือ ปัจจุบันคือ ประเทศอียิปต์

ช่วงเวลาดังกล่าว คนในลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติสและลุ่มแม่น้ำไนล์ เลิกใช้ชีวิตแบบเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ หันมาตั้งบ้านเรือน รู้จักการเพาะปลูก ทำอาวุธ เครื่องใช้และเครื่องมือเกษตรกรรมแบบง่ายๆ รู้จักกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันในชุมชน มีวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีและมีรูปแบบทางสังคมสลับซับซ้อนมากขึ้นได้แก่ การชลประทาน การประดิษฐ์อักษร การคิดค้นสร้างสรรค์ศิลปะปรัชญาและศาสนาในการดำรงชีวิต เป็นต้น ต่อมาจึงพัฒนาเป็นอารยธรรมเผยแพร่ในบริเวณดินแดนคาบสมุทรชายฝั่งทะเลอีเจียน (คือ ที่ตั้งของประเทศกรีซ) แล้วจึงแพร่ สู่คาบสมุทรอิตาลีและดินแดนอื่นทั่วภาคพื้นยุโรป แล้วกลายเป็นรากฐานสำคัญของอารยธรรมตะวันตก
ศิลปวัฒนธรรมในดินแดนเมโสโปเตเมีย

ดินแดนเมโสโปเตเมีย หรือดินแดนแห่งแถบลุ่มแม่น้ำทั้งสอง (คือแม่น้ำไทกริส- ยูเฟรตีส) ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งศิลปวัฒนธรรมที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก เมื่อประมาณ 4,000 ปีB.C.

ดินแดนเมโสโปเตเมียมีลักษณะภูมิประเทศที่เปิดโล่งปราศจากปราการธรรมชาติ จึงมักถูกชนเผ่าต่างๆรุกราน และผลัดเปลี่ยนกันมีอำนาจ แต่ไม่ปรากฏว่ามีเผ่าใดสามารถครองอำนาจอยู่ได้นานนับพันปีดังเช่นในอียิปต์ ชนเผ่าต่างๆที่เคยมีอำนาจและสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมเหนือดินแดนเมโสโปเตเมีย ได้แก่ ชาวสุเมเรียน ชาวอัคคาเดียน ชาวอะเมอไรต์ และชาวอัสซีเรียน เป็นต้น
ชาวสุเมเรียน

ชาวสุเมเรียนเป็นคนกลุ่มแรกที่มีอำนาจปกครองชนเผ่าต่างๆ เหนือดินแดนเมโส โปเตเมีย วัฒนธรรมของพวกเขาจึงเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปวัฒนธรรมในแถบลุ่มน้ำไทกริส-ยูเฟรติส

สภาพภูมิอากาศแบบกึ่งทะเลทรายในดินแดนเมโสโปเตเมียซึ่งมีธรรมชาติแปรปรวน ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตเท่าใดนัก บางครั้งก็ร้อนจัดติดต่อกัน บางครั้งก็มีพายุฝนรุนแรง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน บางครั้งหิมะจากเทือกเขาอะเมเนียนซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติสก็ละลายลงมาท่วมซ้ำ สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนริมสองฝั่งแม่น้ำเป็นอันมาก ความเป็นอยู่เช่นนี้ทำให้ชาวเมโสโปเตเมียเป็นพวกมองโลกในแง่ร้าย ไม่เห็นคุณค่าของชีวิตในโลกปัจจุบัน มองตนเองเป็นเพียงทาสรับใช้หรือครื่องตอบสนองความพึงพอใจของพระเจ้า ขณะที่ชาวอียิปต์กลับเชื่อเรื่องคุณค่าของการมีชีวิต และหวังจะฟื้นกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่งในโลกหน้า เนื่องจากสภาพที่ตั้งชุมชนของชาวอียิปต์มีความอุดมสมบูรณ์และมีปราการธรรมชาติเป็นทะเล เมดิเตอเรเนียนด้านเหนือ มีทะเลทรายทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก รวมทั้งทางด้านใต้ยังมีแก่งน้ำใหญ่เป็นปรากการป้องกันการรุกรานได้เป็นอย่างดีด้วย
การปกครองและสภาพสังคมสุเมเรียน

ชาวสุเมเรียนทุกคนเชื่อเรื่องการยกย่องและยำเกรงพระเจ้า มนุษย์มีหน้าที่ต้องซื่อสัตย์และรับใช้พระเจ้า เพื่อเป็นหลักประกันให้ได้รับความเมตตาจากพระองค์และไม่ตกเป็นเหยื่อของภัยธรรมชาติ

หลักฐานทางวัฒนธรรมของชาวสุเมเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับศาสนา พวกเขามักสร้างศาสนสถานด้วยอิฐตากแห้ง ลักษณะคล้ายภูเขาขนาดใหญ่กลางเมือง เพื่อเป็นที่ประทับของเทพเจ้า ห้อมล้อมด้วยกำแพงเมืองและบ้านเรือนประชาชน เรียกว่าซิกเกอแรต (Ziggurat) ชาวสุเมเรียนไม่นิยมสร้างพระราชวังขนาดใหญ่
Ziggurrat เมืองเออร์ ประเทศอิรัก 2,125-2,025 BC.(Edward Lucie-Smith, 1992, 34)
นักบวชเป็นชนชั้นสูงสุดในอาณาจักรสุเมอเรียน หัวหน้านักบวชมักได้รับการแต่งตั้งเป็นกษัตริย์ด้วย ระยะแรก ปกครองโดยสภาของผู้ชายที่บรรลุนิติภาวะ แต่เมื่อเกิดสงครามสภานี้ก็จะแต่งตั้งกษัตริย์ขึ้นทำหน้าที่เป็นผู้นำ ระยะหลังปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องเพราะถูกศัตรูภายนอกรุกรานเป็นเวลานาน
กษัตริย์สุเมเรียนกับเทพเจ้า

หน้าที่ของกษัตริย์ คือ การติดต่อกับเทพเจ้าผ่านความฝัน มีนักบวชเป็นผู้พยากรณ์ความฝันและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แม้กษัตริย์และพระจะเป็นชนชั้นสูงแต่ทั้งเสรีชนและทาส ต่างก็มีฐานะเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า ความตายถือเป็นการสิ้นสุดพันธะที่มีต่อพระจ้า ชาวสุเมเรียนจึงไม่นิยมสร้างปิรามิดหรือทำมัมมี่

รูปปั้นนักบวชหรือ Gudea อายุ 2,100 BC. สูง 73 cms. ศิลปะเมโสโปเตเมีย

(Edward Lucie-Smith, 1992, 38)


การประดิษฐ์อักษรคูนิฟอร์มและความเจริญทางวิทยาการของชาวสุเมเรียน

ชาวสุเมเรียนเป็นชนกลุ่มแรกที่รู้จักประดิษฐ์ลายลักษณ์อักษรเรียกว่า “อักษรคูนิฟอร์ม (Cuneiform) หรืออักษรลิ่ม” โดยใช้ไม้เขียนลงบนแผ่นดินเหนียวแล้วผึ่งหรืออบด้วยความร้อนให้แห้ง ใช้บันทึกบทบัญญัติทางศาสนาและทำบัญชีทางการค้า เชื่อว่าอักษรคูนิฟอร์มมีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก และเป็นเครื่องมือถ่ายทอดอารยธรรมด้านต่างๆ อาทิ ด้านศาสนาและวรรณกรรม เป็นต้น

วรรณกรรมสำคัญของชาวสุเมเรียน คือ มหากาพย์กิลกามิช (Epic of Gilgamish) ซึ่งเป็นเรื่องการผจญภัยของวีรบุรุษที่แสวงหาชีวิตอมตะ นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าพระคัมภีร์เก่า (The Old Testament) ของชาวฮิบรูและพระคัมภีร์ไบเบิลของชาวดริสเตียน อาจได้แนวความคิดเรื่องน้ำท่วมโลกจากมหากาพย์นี้

อักษรคูนิฟอร์มถูกใช้อย่างต่อเนื่องนานถึงสองพันปีก่อนจะสูญหายไป จนถึง ต้นคริสตศตวรรษที่ 19 จึงมีผู้คิดค้นหลักการอ่านอักษรคูนิฟอร์มคือ จี.เอฟ. กรอทเฟนด์ (G.F. Grotefend) ครูชาวเยอรมัน ต่อมาเซอร์ เฮนรี รอว์ลิงสัน (Sir Henry C. Rawlinson) ชาวอังกฤษได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาของการอ่านอักษรคูนิฟอร์มอย่างสมบูรณ์เมื่อ ค.ศ.1846

คณิตศาสตร์เป็นวิทยาการโดดเด่นของชาวสุเมเรียน พวกเขารู้จักการใช้เลขฐาน 6 60 360 600 3600 ฯลฯ เพื่อนับชั่วโมง นาที องศา พื้นที่วงกลม การคูณ-หาร การหาเลขยกกำลังสอง เลขยกกำลังสาม การชั่ง-ตวง-วัด และปฏิทินแบบจันทรคติ

ความเสื่อมของอาณาจักสุเมเรียน

ในช่วง 2,370 ปี ก่อนคริสตศักราช กษัตริย์ซาร์กอนแห่งอาณาจักรอัคคัด (ชาวเซมิติก) ทางเหนือของเมโสโปเตเมีย ได้รวบรวมเมืองในลุ่มน้ำไทกริส-ยูเฟรติสเข้าด้วยกัน เรียกว่าอาณาจักรอัคเคเดียน ถือเป็นจักรวรรดิแรกในสมัยโบราณที่มีความเป็นปึกแผ่น เมื่อกษัตริย์ซาร์กอนสิ้นพระชนม์ดินแดนเมโสโปเตเมียก็แตกแยกกันอีก จนถึงประมาณ 2,100ปีก่อนคริสตศักราช เมืองเออร์แห่งอาณาจักรสุเมเรียนก็รวบรวนดินแดนเมโสโปเตเมียเข้าด้วยกันได้อีกครั้ง ภายใต้เงื่อนไขที่ยินยอมให้กษัตริย์แต่ละอาณาจักรสามารถปกครองตนเองได้ แต่หลังจากนั้นไม่นานชาว อะมอไรต์ ซึ่งเป็นชนเผ่าเซมิติกกลุ่มใหม่ภายใต้การนำของพระเจ้าฮัมมูราบี (1,799-1,750 B.C.) จากทะเลทรายอาระเบีย ก็ยึดครองดินแดนเมโสโปเตเมียและตั้งอาณาจักรบาบิโลเนียขึ้น


อาณาจักรบาบิโลเนีย

อาณาจักรบาบิโลนของชาวอะมอไรต์ได้สานต่ออารยธรรมของชาวสุเมเรียนหลายด้าน อาทิ ประมวลกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรของพระเจ้าฮัมมูราบี ซึ่งยึดหลักการแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันในการลงโทษ เป็นต้น


ส่วนบนของแผ่นหินจารึกประมวลกฎหมายของพระเจ้าฮัมมูราบี ประมาณ 1,760 BC. (Edward Lucie-Smith, 1992, 28)


การปกครองของบาบิโลนมีลักษณะแบบรวมศูนย์อำนาจ มีการเก็บภาษีอากรและเกณฑ์ทหาร การค้าขายอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ แต่ฝ่ายปกครองมีอำนาจอยู่ได้ไม่นาน อำนาจรัฐก็ตกเป็นของนักบวชอีกครั้งทำให้อาณาจักรอ่อนแอ

ในช่วง1,520ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวฮิตไตต์ (Hitties) จากทางเหนือได้เข้าปล้นสะดมและยึดครองอาณาจักรบาบิโลเนีย จนถึงประมาณ1,200ปีก่อนคริสตศักราชก็ถูกชาวคัสไซต์(Kassites)แห่งเทือกเขาซากรอสเข้ายึดครองนาน 400 ปี ก่อนจะถูกชาวอัสซีเรียนเข้ามาปกครองแทนที่


ประตูอีชตาร์แห่งบาบิโลเนีย (อิรัก) อิฐเคลือบ 575 BC. บูรณะใหม่ ปัจจุบันอยู่ที่เบอร์ลิน เยอรมนี(Edward Lucie-Smith, 1992, 35)


จักรวรรดิอัสซีเรีย

ในช่วง 800 ปี ก่อนคริสตศักราช ชาวอัสซีเรียนซึ่งเป็นนักรบเผ่าเซมิติกกลุ่มหนึ่งได้ใช้อาวุธทำด้วยเหล็กยกทัพเข้ายึดครองกรุงบาบิโลนและอาณาจักรต่างๆ ในเอเชียไมเนอร์ สร้างจักรวรรดิอัสซีเรีย มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนิเนเวห์ (Nineveh) ปกครองราษฎรด้วยวิธีการกดขี่ขูดรีดภาษีและโยกย้ายชาวเมืองดั้งเดิมออกไปจากถิ่นฐาน สร้างความเดือดร้อนทั่วไป

ชาวอัสซีเรียนนับถือเทพเจ้าเช่นเดียวกับชาวสุเมเรียนและชาวอัคเคเดียน กษัตริย์ของชาวอัสซีเรียนยังคงเป็นตัวแทนเทพเจ้า แต่ก็ทรงมีเกียรติยศสูงกว่ากษัตริย์สุเมเรียน เห็นได้จากการที่พระราชวังของกษัตริย์อัสซีเรียนมีขนาดใหญ่กว่าวิหารเทพเจ้า

ศิลปะของชาวอัสซีเรียนนิยมทำเป็นภาพสลักนูนต่ำเล่าเรื่องวิถีชีวิตประจำวันหรือเหตุการณ์สำคัญ อาทิ การล่าสัตว์และการทำสงคราม ความเจริญสูงสุดด้านศิลปวัฒนธรรมเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอัสซูร์บานิปาล (668-629 B.C.) โดยมีการรวบรวมแผ่นจารึกผลงานของราชบัณฑิตไว้ในห้องสมุดที่เมืองนิเนเวห์มากถึง 20,000 แผ่น

ในช่วง 650-520 ปี ก่อนคริสตศักราช เมืองขึ้นของจักรวรรดิอัสซีเรียได้แยกตัวเป็นอิสระ ขณะที่ชาวแคลเดียนซึ่งเป็นชนเผ่าฮิบบรูจากด้านตะวันออกเฉียงใต้ของลุ่มน้ำไทกริส-ยูเฟรติสก็ได้บุกเข้ายึดกรุงนิเนเวห์ และก่อตั้งอาณาจักรแคลเดียหรือบาบิโลเนียใหม่ (Chaldea หรือ New Babylonia ระหว่าง 612-539 B.C.) ขึ้นมาอีกครั้ง


อาณาจักรแคลเดียหรือบาบิโลเนียใหม่

ในรัชสมัยพระเจ้าเนบูชัคเนซซาร์ อาณาจักรบาบิโลเนียใหม่ได้ยกโจมตีเมืองเยรูซาเล็มและกวาดต้อนเชลยชาวยิวจำนวนมากกลับมาด้วย แต่ในปีที่ 539 ก่อนคริสตศักราช อาณาจักร บาบิโลเนียใหม่ก็ถูกกองทัพของพระเจ้าไซรัส (Cyrus) เข้ายึดครองและผนวกเป็น ส่วนหนึ่งของอาณาจักรเปอร์เซีย

แม้อาณาจักรบาบิโลเนียใหม่จะมีพัฒนาการในช่วงสั้นๆ แต่ก็ทิ้งร่องรอยศิลปวัฒนธรรมไว้มากมาย เช่น ซากพระราชวังและวิหารเทพเจ้าขนาดใหญ่บนฝั่งแม่น้ำยูเฟรตีส ทางด้านเหนือของพระราชวังมีการสร้างอุทยานลอยฟ้าที่ให้ความเขียวชะอุ่มตลอดเวลาจากระบบชลประทานเรียกว่า สวนลอยแห่งกรุงบาบิโลน (The Hanging Garden of Babilon) ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงด้านเกษตรกรรมและการคิดค้นด้านดาราศาสตร์ ซึ่งแบ่งสัปดาห์ออกเป็น 7 วัน แบ่งวันออกเป็น 12 ช่วงๆละ 120 นาที สามารถคำนวณปรากฏการณ์สุริยุปราคาและการโคจรของดวงอาทิตย์ได้อย่างถูกต้อง


ศิลปวัฒนธรรมในลุ่มแม่น้ำไนล์

อาณาจักรอียิปต์เป็นอาณาจักรที่มีการเริ่มต้นและสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมได้ยาวนานและมีเอกภาพหลายพันปี เนื่องจากมีความเหมาะสมทางด้านของที่ตั้งอันอุดมสมบูรณ์และมีปราการธรรมชาติมั่นคง

อาณาจักรอียิปต์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา มีทะเล เมดิเตอเรเนียนอยู่ทางทิศเหนือ ด้านตะวันออกและตะวันตกเป็นทะเลทรายสะฮารา ด้านใต้เป็นแก่งน้ำ มีแม่น้ำไนล์ไหลผ่านตรงกลาง

ภูมิประเทศดังกล่าวทำให้อาณาจักรอียิปต์แบ่งการปกครองออกเป็น 2 อาณาจักร คือ อียิปต์บน (Upper Egypt) อยู่ทางทิศใต้กับอียิปต์ล่าง (Lower Egypt) อยู่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์อันอุดมสมบูรณ์ทางทิศเหนือ มีแก่งใหญ่ตอนกลางเป็นเส้นแบ่งเขตแดนเรียกรวมกันว่า อาณาจักรสองแผ่นดิน โดยในระยะแรกจะผลัดกันเป็นศูนย์กลางความเจริญ


พัฒนาการของอารยธรรมอียิปต์ (เกือบ 4,000-332 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

ประมาณ 3,500-3,200 ก่อนคริสต์ศักราช กษัตริย์นาร์เมอร์หรือเมเนสแห่งเมืองThebes ทางตอนกลางของแม่น้ำไนล์ ได้รวบรวมอาณาจักรอียิปต์บนและอียิปต์ล่างเข้าด้วยกัน แล้วสถาปนาพระองค์เป็นฟาโรห์ (Pharoah) องค์แรกแห่งราชวงศ์ที่ 1 จากนั้นจึงทรงย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่เมืองเมมฟิส (Memphis) ทำให้อาณาจักรอียิปต์มีฟาโรห์ปกครองติดต่อถึง 31 ราชวงศ์ จนกระทั่งถูกกองทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชยึดครองเมื่อ 332 ปี ก่อนคริสต์ศักราช



แผนที่อิยิปต์และเมโสโปเตเมีย(Edward Lucie-Smith, 1992, 29)

จากลักษณะอากาศที่ไม่แปรปรวนและความอุดมสมบูรณ์ของที่ราบลุ่มแม่น้ำไนล์ อันเกิดจากฝนตกในเดือนพฤษภาคม และประโยชน์จากฤดูน้ำหลากระหว่างเดือนกรกฎาคม-ตุลาคมของทุกปีซึ่งทำให้น้ำไหลเอ่อท่วมพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำไนล์ ชาวอียิปต์จึงรู้จักการสร้างทำนบกั้นน้ำ ขุดคลองส่งน้ำ รวมทั้งสร้างระบบระบายน้ำเข้าพื้นที่เกษตรกรรม จนสามารถเพาะปลูกอย่างได้ผล


ศาสนาและความเชื่อของชาวอียิปต์

ชาวอียิปต์นับถือพระเจ้าหลายองค์เช่นเดียวกับชาวเมโสโปเตเมียเทพเจ้าสูงสุดคือ สุริยเทพหรือเร (Re) เทพเจ้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ เทพโอซิริส (Osiris) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งแม่น้ำไนล์ เทพไอซีส(Isis)หรือพระแม่ธรณี

ชาวอียิปต์เชื่อว่า เทพเจ้าเป็นผู้มีเมตตาและยกย่องฟาโรห์เสมอเทพเจ้า คำสั่งของฟาโรห์จึงศักดิ์สิทธิ์ถือเป็นกฎหมาย อารยธรรมของอียิปต์จึงสอดคล้องกับหลักความเชื่อและสภาพแวดล้อมของอาณาจักร

ชาวอียิปต์นิยมสร้างปิรามิด (Pyramid) เพื่อบรรจุมัมมี่ศพเจ้านายและขุนนาง เนื่องจากเชื่อเรื่องการฟื้นคืนชีพและชีวิตอมตะภายในปิรามิดตกแต่งอย่างสวยงามด้วยข้าวของเครื่องใช้เครื่องประดับภาพเขียนและประติมากรรมล้ำค่า

ในสมัยอาณาจักรเก่า (The old Kingdom 2,700-2,200 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ชาวอียิปต์นิยมสร้างปิรามิดรูปสามเหลี่ยมแบบเรียงเป็นขั้นบันได ระยะหลังนิยมสร้างปิรามิด แบบด้านข้างเรียบ ปิรามิดสำคัญคือ The Great Pyramid of Gizeh อุทิศแด่ฟาโรห์คีออปส์ สูง 150 เมตร มีรูปสิงโตหน้าคน (sphinx) ตั้งอยู่ด้านหน้า การสร้างปิรามิดจำนวนมากนำมาสู่การล่มสลายของอาณาจักรอียิปต์ในที่สุด


ภาพปิรามิดแบบขั้นบันไดของฟาโรห์ดโยเซอร์ ที่เมืองซักการา ประเทศอียิปต์ 2,700 BC. (Edward Lucie-Smith, 1992, 33)


มหาปิรามิดที่เมืองกีเซห์ องค์ซ้ายอุทิศแด่ฟาโรห์ไมเซรินัส 2,575 ปีก่อนคริสต์ศักราชองค์กลางอุทิศแด่ฟาโรห์คีออฟ 2,650 ปีก่อนคริสต์ศักราช องค์ขวาอุทิศแด่ฟาโรห์เชเฟรน 2,600ปี ก่อนคริสต์ศักราช (Edward Lucie Smith,1992, 33)


ฟาโรห์เซเฟรนแห่งราชวงศ์ที่ 4 ประทับนั่งบนบัลลังก์ กำมือขวาบนเข่า มือซ้ายวางหงายบนตัก ท่านั่งเช่นนี้ส่งอิทธิพลแก่ศิลปะสมัยหลังเป็นเวลานาน (Edward Lucie-Smith, 1992, 36)


รูปสลักขนาดใหญ่ของพระนางอักเคนาเตน พบที่เมืองคาร์นัก 1,375 ปี ก่อนคริสต์ศักราช (Edward Lucie-Smith, 1992, 37)

ความเจริญด้านอักษรศาสตร์ของอียิปต์

ชาวอียิปต์ประดิษฐ์อักษรภาพเรียกว่า อักษรไก่เขี่ยหรืออักษรเฮียโรกลิฟิก(Hieroglyphic / Hieros= ศักดิ์สิทธิ์ glyphic= การแกะสลัก/เขี่ย) เพื่อบันทึกเรื่องราวทางศาสนาและวิทยาการ โดยแกะตัวอักษรลงไปบนผนังวิหาร ผนังปิรามิด แผ่นหิน ไม้หรือดินเผา ต่อมาจึงมีการเขียนอักษรภาพบนกระดาษปาปิรุส(Papyrus)ซึ่งทำจากต้นปาปิรุส

อักษรไก่เขี่ยพัฒนาเป็นอักษรเฮียราติก (Hieratic) ที่ยังเป็นอักษรภาพแบบ “Ideograph” ยังมิได้เป็นอักษรแบบ “alphabet” ดังเช่นอักษรของพวกฟินิเชียน ทำให้อักษรเฮียโรกลิฟิกสูญหายไป และมีหลักฐานการใช้ภาษาอิยิปต์รุ่นใหม่เมื่อประมาณ ค.ศ. 476

ฌอง ฟรองซัวร์ ชองโปลิยอง (Jean Francois Champolion) เป็นผู้อ่านอักษรเฮียโรกลีฟิกจากจารึกบนแผ่นหินโรเซ็ทตา (Rosetta stone) เมื่อค.ศ.1882


ภาพเขียนสีบนแผ่นดินเผา พิธีเต้นรำบวงสรวง ทรงผมและเครื่องประดับบ่งบอกถึงความมีชีวิตชีวาและความรุ่งเรืองทางอารยธรรม เบื้องหลังภาพเป็นอักษรเฮียโรกลีฟิกพบในสุสานฟาโรห์เนตานัน 1,400 ปีก่อนคริสต์ศักราช (Edward Lucie –Smith, 1992, 41)




พระราชพิธีอภิเษกของฟาโรห์เซนนูเฟอร์และมเหสี สมัยราชวงศ์ที่ 18 ครั้งที่ 2 (1,450-1,372 BC.) ที่สุสานเมืองธีบีส ภาพเขียนและภาพสลักนูนของอียิปต์มักมีศีรษะเอียงข้าง ตามองไปเบื้องหน้า ลำตัวตรง เท้าแยก และมักจารึกอักษรภาพบรรยายเหตุการณ์เสมอ (Edward Lucie-Smith, 1992, 42)



ภาพเขียนในสุสานของฟาโรห์อุนซู แห่งราชวงศ์ที่ 18 ครั้งที่ 2 (1,500 BC.) เป็นภาพการถวายเครื่องบรรณาการแก่เทพเจ้าด้วย ข้าวโพด สัตว์ป่า ผลไม้และนก ภาพเขียนของอียิปต์มักเล่าเรื่องการล่าสัตว์หรือการเก็บเกี่ยวพืชผล แสงและเงาของภาพนี้ทำได้อย่างงดงาม (Edward Lucie-Smith, 1992, 43)

ชนชาติเก่าแก่บางกลุ่มในเอเชียไมเนอร์

นอกจากชาวเมโสโปเตเมียและชาวอียิปต์แล้ว ชนชาติเก่าแก่บางกลุ่มในเอเชียไมเนอร์ ก็มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการอารยธรรมของยุโรปตะวันตกด้วย ได้แก่ ชาวฟินิเชียน ชาวฮิบรูและ ชาวเปอร์เซียน



ชาวฟีนิเชียน (Phoenicians)

ชาวฟีนิเชียนเป็นชนเผ่าเซมิติก (Semetic) เดิมเรียกว่าพวก Canaanites อาศัยอยู่บริเวณคะนาอัน(ในซีเรียและปาเลสไตน์) เมื่อประมาณ2,000ปีก่อนคริสต์ศักราช อารยธรรมของชนกลุ่มนี้มีรากฐานมาจากดินแดนเมโสโปเตเมียและอียิปต์

ระหว่าง 1,300-1,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ชาวฟินีเชียนถูกชาวอิสราเอลและชาว ฟิลิสไตน์รุกราน จนเหลือดินแดนเพียงชายฝั่งทะเลแคบๆ ของทะเลเมดิเตอเรเนียนที่เรียกว่า “ฟีนิเซีย” (Phoenicia) เท่านั้น ทำให้ชาวคะนาอันไนต์ถูกเรียกว่า ชาวฟีนีเชียน

สภาพแวดล้อมริมฝั่งทะเลทำให้ชาวฟีนิเชียนเชี่ยวชาญการเดินเรือและการค้า จนสามารถควบคุมการค้าในทะเลเมดิเตอเรเนียนเป็นเวลาหลายร้อยปี และมีเมืองท่าศูนย์กลางการค้าหลายแห่ง พวกเขาส่งสินค้าจากอินเดียและตะวันออกไกลไปยังเมโสโปเตเมีย อียิปต์ เอเชียไมเนอร์ แอฟริกาเหนือและยุโรปตะวันตก

พ่อค้าชาวฟีนิเชียนเดินเรือนำอารยธรรมจากตะวันออกไปยังดินแดนต่างๆ ในย่านมหาสมุทรแอตแลนติกและอังกฤษเป็นพวกแรก และสามารถตั้งอาณานิคมบนเกาะซิซิลีและ ที่เมืองคาร์เธจ (Carthage) ทางเหนือของแอฟริกา

ในช่วง 750 ปี ก่อนคริสตศักราช ชาวแอสซิเรียนได้ยึดครองดินแดนของชาวฟีนิเชียนจนเกือบหมด เหลือเพียงอาณานิคมที่เมืองคาร์เธจเท่านั้น แต่ในปีที่ 146 ก่อนคริสต์ศักราชเมืองคาร์เธจก็ถูกทำลายโดยจักรวรรดิโรมัน

ชาวฟีนิเชียนเป็นคนกลุ่มแรกที่รู้จักปรับปรุงอักษรเฮียราติกของอียิปต์และอักษรคูนิฟอร์มของเมโสโปเตเมียให้เป็นอักษรแบบที่เรียกว่า “อัลฟาเบท (Alphabet)” จำนวน 22 ตัว สามารถใช้แทนเสียงต่างๆได้ แต่อักษรดังกล่าวยังไม่มีการผสมสระ อักษรที่เรียกว่าอัลฟาเบทใช้กันอย่างแพร่หลาย แม้กระทั่งชาวกรีกและชาวโรมันก็นำไปปรับปรุงใช้ด้วย อักษรของชาวฟีนิเชียนจึงเป็นต้นตระกูลของชาวตะวันตกและชาวตะวันออกชาติต่างๆ โดยเฉพาะชาวกรีกได้ปรับปรุงรูปอักษรที่รับไปให้สวยงามยิ่งขึ้นพร้อมกับเพิ่มสระเข้าไปอีก ทำให้สามารถใช้ได้อย่างสะดวกมากขึ้น
ชาวฮิบรู (Hibrew)

ชาวฮิบรูเป็นชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทรายเมื่อประมาณ 1,400 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ชนเผ่านี้มีโมเสส (Moses) เป็นผู้นำในการปลดแอกจากการเป็นทาสของอียิปต์ และพาชาวฮิบรูอพยพไปยังดินแดนแห่งพันธะสัญญา (The Promised Land)หรือดินแดนคะนาอันในปาเลสไตน์ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าพระเจ้า (Yahovah เดิมเรียกว่าYahweh) ประทานให้

ในสมัยพระเจ้าเดวิด (David ระหว่าง1,013-973 BC.) ชาวฮิบรูก่อตั้งอาณาจักรอิสราเอลขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาในสมัยพระเจ้าโซโลมอน (Solomon ระหว่าง 973-933 BC.) อาณาจักรอิสราเอลสามารถขยายตัวเป็นจักรวรรดิ แต่เวลาผ่านไปไม่นานก็แตกแยกเป็นอาณาจักรอิสราเอลทางทิศเหนือและอาณาจักรจูดาห์ทางทิศใต้ และในที่สุดอาณาจักรอิสราเอลก็ถูกทำลาย โดยชาวแอสซิเรียน ส่วนอาณาจักรจูดาห์ถูกยึดครองโดยพระเจ้าเนบูซัคเนสซา แห่งอาณาจักรบาบิโลเนียใหม่ การพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้ชาวฮิบรูถูกกวาดต้อนไปยังบาบิโลเนียใหม่ เรียกเหตุการณ์ ครั้งนี้ว่า “The Babylonian Captivity” จากนั้นชาวฮิบรูก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเปอร์เซีย กรีกและโรมันตามลำดับ

ในปีค.ศ.70 ชาวฮิบรูก่อการกบฎต่อจักรวรรดิโรมัน ทำให้ดินแดนปาเลสไตน์ถูกทหารโรมันทำลาย ชาวฮิบรูกลายเป็นชนเผ่าเร่ร่อนไร้แผ่นดิน จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่2 จึงได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษในการก่อตั้งประเทศอิสราเอล

ศาสนายูดาย (Judaism) เป็นศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว คือ พระยะโฮวา พระเจ้าทรงเลือกชาวฮิบรูเป็นประชาชนของพระองค์ พระคัมภีร์เก่าของศาสนายูดาย ระบุถึงกำเนิดของศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม ซึ่งต่างก็มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการสร้างศิลปวัฒนธรรมของโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ทั้งด้านวรรณกรรม ชีวิตความเป็นอยู่และทัศนคติ



ชาวเปอร์เซียน

ชาวเปอร์เซียนเป็นชนเผ่าอินโด-ยูโรเปียน เดิมอาศัยอยู่ทางเหนือของทะเลดำครั้นถึงปีที่ 1,200 ก่อนคริสต์ศักราชจึงอพยพสู่ที่ราบสูงอิหร่าน

ระยะแรกชาวเปอร์เซียนถูกปกครองโดยชาวมิเดส (Mides) ต่อมาพระเจ้าไซรัส(Zirus,550-521 BC.) ได้สถาปนาอาณาจักรเปอร์เซียขึ้นในปี 549 BC. แล้วขยายอำนาจอย่างกว้างขวางครอบคลุมตั้งแต่อินเดียถึงปาเลสไตน์ เมโสโปเตเมีย ลิเดีย ซีเรียและอียิปต์ (529-522 BC.)

ในรัชสมัยพระเจ้าดาริอุส (Darius, 522-466 BC.) จักรวรรดิเปอร์เซียก็มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว เนื่องจากกษัตริย์เปอร์เซียทรงมีอำนาจประดุจเทพเจ้า และมีฐานะเป็นพระจักรพรรดิ (King of the Kings) อย่างแท้จริง

ตั้งแต่ปีที่ 490 ก่อนคริสต์ศักราชเป็นต้นมา จักรวรรดิเปอร์เซียและจักรวรรดิกรีก มักทำสงครามกันเสมอ แต่เปอร์เซียมักเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และในปีที่ 330 ก่อนคริสตศักราช บัลลังก์ของพระเจ้าดาริอุสแห่งเปอร์เซีย ก็ถูกกองทัพกรีกภายใต้การนำของพระเจ้าอเลกซานเดอร์แย่งชิง (อนันต์ชัย, 2529, 14-18)



ศิลปะและศาสนาของชาวเปอร์เซียน

ศิลปะเปอร์เซีย เกิดจากการผสมผสานอย่างหลากหลาย หลักฐานสำคัญ คือ พระราชวังเปอร์ซิโพลิส (Persipolis Place) ซึ่งมีเสาหินสูงเพรียวอ่อนช้อย ทำหัวเสาเป็นรูปสิงโตหรือวัวอย่างกลมกลืนกับโครงสร้าง มีหินเป็นวัสดุก่อสร้าง ในขณะที่ดินแดนอื่นๆในเอเชียไมเนอร์และเมโสโปเตเมียนิยมใช้อิฐ ภาพสลักนูนศิลปะเปอร์เซียมีลักษณะคล้ายงานของชาวอัสซีเรียน แต่ศิลปะเปอร์เซียเน้นกล้ามเนื้อในประติมากรรมชัดเจนกว่า

ชาวเปอร์เซียนนับถือศาสนาโซโรแอสเตอร์ (Zoroastrianism) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าลัทธิบูชาไฟ ศาสดาของศาสนานี้ชื่อ โซโรแอสเตอร์ (Zoroaster 700-600 BC.) นับถือพระเจ้าองค์เดียวคือ อาหุรา มาสดา (Ahura Mazda) เทพแห่งความดีหรือเทพแห่งแสงสว่าง

ชาวเปอร์เซียมีหน้าที่ช่วยเทพแห่งความดีต่อสู้กับอาหริมาน (Ahriman) หรือซาตาน ประมุขแห่งความชั่ว ศาสนาโซโรแอสเตอร์มีอิทธิพลอยู่ในเอเชียไมเนอร์ เปอร์เซียและเมโสโปเตเมียจนถึงประมาณค.ศ.700 จึงถูกแทนที่ด้วยศาสนาอิสลาม

ปรัชญาบางส่วนของศาสนาโซโรแอสเตอร์ยังคงปรากฏแทรกซึมอยู่ในคำสอนของ ศาสนคริสต์และปรัชญาศาสนาในสมัยกลาง (อนันต์ชัย, 2529, 19)


แบบฝึกหัดบทที่ 2
1. พื้นฐานดั้งเดิมก่อนเกิดอารยธรรมตะวันตกก่อตัวขึ้นเมื่อใด

ก. ประมาณ 4,000 BC. ข. ประมาณ 3,500 BC.

ค. ประมาณ 5,000 BC. ง. ประมาณ 6,000 BC.

2. ภูมิภาคแถบเอเชียไมเนอร์เป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมโบราณในข้อใด

ก. เมโสโปเตเมีย ข. อียิปต์

ค. กรีก ง. โรมัน

3. แม่น้ำไทกริส-ยูเฟรตีสพัดดินตะกอนมาท่วมสองฝั่งภาคใต้ของดินแดนเมโสโปเตเมียในฤดูใบไม้ผลิระหว่างเดือน………....ทำให้ภาคใต้เป็นดินแดนที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลอุดมด้วยปุ๋ยธรรมชาติเหมาะต่อการเพาะปลูกพืชพรรณธัญญาหารต่างๆ ข้อใดถูกต้อง

ก. ธันวาคม-กุมภาพันธ์ ข. มีนาคม-พฤษภาคม

ค. มิถุนายน-สิงหาคม ง. สิงหาคม-พฤศจิกายน

4. พื้นที่ภาคเหนือของดินแดนเมโสโปเตเมียมีฝนตกชุกเมื่อใด

ก. ฤดูร้อน ข. ฤดูใบไม้ร่วง

ค. ฤดูหนาว ง. ฤดูใบไม้ผลิ

5. ข้อใดเป็นชนชาติเก่าแก่ที่ริเริ่มสร้างสรรค์อารยธรรมเมโสโปเตเมียขึ้นมา

ก. ชาวสุเมอเรียน ข. ชาวอัคคาเดียน

ค. ชาวอะเมอไรต์ ง. ชาวอัสซีเรียน

6. ข้อใดเป็นปัจจัยที่ทำให้ชาวเมโสโปเตเมียมองโลกในแง่ร้ายและไม่เห็นคุณค่าของชีวิต

ก. สภาพภูมิอากาศแบบกึ่งทะเลทรายแปรปรวน

ข. พายุฝนรุนแรงทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน

ค. เห็นตนเองเป็นทาสที่เกิดมาเพื่อรับใช้พระเจ้า

ง. หิมะจากเทือกเขาอะเมเนียนละลายลงมาซ้ำเติม

7. ชาวสุเมเรียนไม่นิยมสร้างพระราชวังขนาดใหญ่ แต่นิยมสร้างซิกเกอแรท (Ziggurats) ศาสนสถานขนาดใหญ่กลางเมืองเป็นที่ประทับของเทพเจ้า ลักษณะคล้ายภูเขาห้อมล้อมด้วยกำแพงเมืองและบ้านเรือนประชาชน สร้างจากวัสดุประเภทใด

ก. อิฐตากแห้ง ข. หินทราย

ค. หินอ่อน ง. อิฐเผาอุณหภูมิสูง

8. ข้อใดเป็นการปกครองในระยะแรก ของอาณาจักรสุเมอเรีย

ก. กษัตริย์ ข. นักบวช

ค. สภาผู้เฒ่า ง. สภาของผู้ชายที่บรรลุนิติภาวะ

9. ข้อใดเป็นอักษรที่เกิดจากการใช้ไม้เขียนลงบนแผ่นดินเหนียวแล้วผึ่ง หรืออบให้แห้ง

ก. คูนิฟอร์ม ข. เฮียโรกลีฟิก

ค. ฟินิเชียน ง. อัลฟาเบธ

10. ข้อใดเป็นชื่อของผู้ก่อตั้งอาณาจักรบาบิโลเนีย

ก. ฮัมมูราบี ข. ซาร์กอน

ค .กูเดีย ง. อัสซูร์บานิปาล

11. “พวกCanaanites” เป็นคำเรียกชนชาติในข้อใด

ก. ชาวฟินิเชียน ข. ชาวฮิบรู

ค. ชาวเปอร์เซีย ง. ชาวอาร์เคียน

12. หลังจากถูกรุกรานโดยชาวยิวและชาวฟิลิสไตน์เมื่อประมาณ 1,300-1,000 BC. ดินแดนของชาวคะนาอันไนต์จึงเหลือเพียง “ฟีนิเซีย” ซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งแคบๆของทะเลอะไร

ก. ทะเลเมดิเตอเรเนียน ข.ทะเลอีเจียน

ค. ทะเลแดง ง.ทะเลอาหรับ

13. ในปี 750 BC. ชนชาติใดได้เข้ามายึดครองดินแดนของชาวฟีนิเชียนจนเกือบหมด เหลือเพียง

อาณานิคมที่เมืองคาร์เธจเท่านั้น

ก.ชาวแอสซิเรียน ข.ฮิบรู

ค.ฟิลิสไตน์ ง. กรีก

14. ข้อใดเป็นต้นตระกูลของอักษรที่ชาวยุโรปใช้อยู่ในปัจจุบัน

ก. อักษรเฮียโรกลีฟิค ข. อักษรคูนิฟอร์ม

ค. อักษรฟีนิเชียน ง. อักษรฮิบรู

15. ชาวฮิบรูเป็นชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทรายเมื่อ 1,400 BC. มีMosesเป็นผู้นำสำคัญในการปลดแอกจากการเป็นทาสของชนชาติใด

ก. สุเมอเรียน ข. อียิปต์

ค. ปาเลสไตน์ ง. เปอร์เซีย

16. ข้อใดเป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรอิสราเอลเมื่อประมาณ 1,013-973 BC.

ก. พระเจ้าเดวิด ข. พระเจ้าโซโลมอน

ค. พระเจ้าเนบูซัคเนสซา ง. พระเจ้าไซรัส



17. อาณาจักรอิสราเอลถูกทำลายโดยชนชาติใด

ก. ชาวอียิปต์ ข. ชาวเปอร์เซีย

ค. ชาวปาเลสไตน์ ง. ชาวแอสซิเรียน

18. เหตุการณ์ที่เรียกว่า The Babylonian Captivity เกี่ยวข้องกับชนชาติใด

ก. ชาวอียิปต์ ข. ชาวฮิบรู

ค. ชาวปาเลสไตน์ ง. ชาวแอสซิเรียน

19.ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับศาสนายูดาย

ก. นับถือเทพซูส ข. นับถือพระยะโฮวา

ค. นับถือพระมะหะหมัด ง. นับถือพระอัลเลาะห์

20. ผู้สถาปนาอาณาจักรเปอร์เซียเมื่อปี 549 BC. คือใคร

ก. พระเจ้าเดวิด ข. พระเจ้าดาริอุส

ค. พระเจ้าเนบูซัคเนสซา ง. พระเจ้าไซรัส






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น