วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บทที่ 5 ศิลปวัฒนธรรมตะวันตกสมัยกลาง (ค.ศ.410-1494)

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร
ความหมายของยุคกลาง


ยุคกลางเป็นยุคมืดแห่งศิลปวิทยาการ
นักคิดในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (คริสต์ศตวรรษที่ 15) และนักคิดแห่งสำนักฟิโลซอฟ(The Philosophes) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งมีวอลแตร์ (Francois  Voltaire ) เป็นผู้นำ  เสนอว่ายุคกลางเป็นยุคที่ยุโรปหยุดนิ่งทางศิลปวิทยาการ  และอยู่ระหว่างความเจริญของโลกคลาสสิกกับความรุ่งเรืองของยุโรปสมัยใหม่ซึ่งเริ่มต้นเมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันตกถูกทำลายจนถึงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (ต้นคริสศตวรรษที่ 5-ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15)
สมัยคลาสสิกกับสมัยใหม่มีลักษณะของการริเริ่มตอบรับพัฒนาการใหม่ๆทางความคิดและศิลปวิทยาการ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความสำเร็จของทั้ง 2 ยุค บ่งชี้ถึงอารยธรรมยิ่งใหญ่ของมนุษย์
นักคิดอีกกลุ่มหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 เห็นว่า  ยุคกลางเป็นยุคแห่งการถอยกลับไปสู่ความป่าเถื่อน  มีความหยุดนิ่งทั้งด้านความคิดและพัฒนาการทางวัตถุ ปราศจากความเจริญ  ละทิ้งปรัชญามนุษยนิยม  เน้นแต่ความสำคัญของศาสนา  ชีวิตโลกหน้า  ไม่สนใจวิทยาการที่ช่วยเพิ่มพูนสติปัญญาและความเข้าใจของมนุษย์ต่อธรรมชาติและไม่สนใจสุนทรียภาพทางศิลปะ

ยุคกลางเป็นระยะฟูมฟักความเจริญทางศิลปวิทยาการ 
นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งเชื่อว่า ยุคกลางเป็นรากฐานความเจริญของโลกตะวันตกทั้งด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  สังคมและศิลปวิทยาการ  เป็นช่วงต่อระหว่างโลกยุคโบราณกับโลกยุคใหม่  เป็นยุคบ่มตัวหลังจากสิ้นสุดยุคโบราณ  นักประวัติศาสตร์กลุ่มนี้ถือว่า ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการยุคกลาง สภาพต่างๆ ในยุคกลางเป็นพลังกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นทางวิทยาการ และความนิยมทางศิลปะยุคโบราณของชนชั้นกลางแทนนักบวชซึ่งเคยผูกขาดโอกาสพิเศษนี้  ชนชั้นกลางยังเป็นพลังสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ในการทำลายอำนาจของสถาบันศาสนาและผลักดันให้ยุโรปก้าวสู่ยุคใหม่ในเวลาต่อมา


ยุคกลางเป็นจุดเชื่อมระหว่างโลกยุคโบราณกับโลกยุคใหม่   
นักวิชาการกลุ่มหนึ่งเห็นว่า  ยุคกลางเป็นยุครวบรวมพัฒนาการต่างๆ ของยุคโบราณ ซึ่งแม้จะสิ้นสุดลงพร้อมกับการสลายตัวของยุคกลาง แต่ก็ชี้ให้เห็นความบกพร่องของโลกยุคโบราณ อาทิ การให้ความสำคัญเรื่องชุมชนสากลในอารยธรรมโรมัน  โดยประมุขแห่งคริสตจักรเป็นผู้นำทางจิตใจผู้เดียวและประมุขทางโลกก็เป็นผู้นำอาณาจักรเพียงผู้เดียว  รวมถึงการให้ความสำคัญเรื่องความเป็นชาติภายใต้สถาบันกษัตริย์ของแต่ละเผ่าพันธุ์และจารีตทางวัฒนธรรมในคริสต-ศตวรรษ          ที่ 13-14  ยุคกลางจึงกระตุ้นให้เกิดรัฐประชาชาติ (The Nation States) ชุมชนเมือง ลัทธิปัจเจกบุคคลและการมีสิทธิเท่าเทียมกัน

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของยุคกลาง
1. ยุคกลางตอนต้น (Early- Middle Age, 410-1,000 AD.) เป็นยุคแห่งความสำเร็จพวกนอร์ธแมน เป็นยุคแรกของสังคมศักดินาซึ่งทำให้เกิดการชะงักงันทางปัญญา                       ไร้กฎระเบียบ วินัยและมีการผสมผสานกันของศาสนาคริสต์กับอารยธรรมกรีก-โรมัน (อนันต์ชัย2539, 36)
2. ยุคกลางช่วงรุ่งเรือง (High - Middle  Age, 1,000-1,300 AD.) เป็นยุคทองของสังคมศักดินาและสถาบันศาสนา  คริสตจักรและอาณาจักรอยู่ภายใต้การชี้นำของพระสันตปาปา          มีการฟื้นฟูปรัชญาของอริสโตเติล ทำให้สังคมฟื้นตัวทางปัญญาและเศรษฐกิจ (อนันต์ชัย, 2529, 37แต่ช่วงหลังได้เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักรและมีการก่อตัวของชุมชนเมือง(กอบเกื้อ, 2528)
3. ยุคกลางตอนปลาย (Decline-Middle  Age, 1300-1492 AD.) เป็นยุคเสื่อมของสถาบันศาสนาและระบอบศักดินา  มีการสร้างรัฐประชาชาติและยอมรับอำนาจกษัตริย์  สนใจปรัชญากรีก-โรมัน  นำไปสู่การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ  ความก้าวหน้าทางแพทย์  วิทยาศาสตร์  และการสำรวจทางทะเล
การค้นพบทวีปอเมริกาของคริสโตเฟอร์  โคลัมบัส (Christopher Columbus) เมื่อค..1492  ถือเป็นการสิ้นสุดสมัยกลาง(อนันต์ชัย, 2529, 37)

ความหมายของระบบศักดินา (Feudalism)
Feudalism มาจากคำว่า Fief แปลว่า “ที่ดินแปลงหนึ่ง” หมายถึง ระบบการปกครองและโครงสร้างทางสังคมที่เน้นความสำคัญของกรรมสิทธิ์ที่ดิน การเป็นเจ้าของที่ดินเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของสิทธิอำนาจทางการเมืองและสังคม  หากปราศจากกรรมสิทธิ์ในที่ดินบุคคลก็ไม่สามารถอ้างสิทธิทางการเมืองได้ 
ระบบศักดินาจึงหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของที่ดินกับผู้เช่าที่ดิน ผู้เช่าที่ดินอาจเสียค่าเช่าเพียงเล็กน้อย แต่มีพันธะต่อเจ้าของที่ดินหลายอย่าง เช่น การช่วยทำสงครามในกองทหารของเจ้าของที่ดิน  การช่วยเหลือเงินเมื่อลูกสาวเจ้าของที่ดินแต่งงาน ฯลฯ เป็นต้น เจ้าของที่ดินก็ต้องคุ้มครองแก่ผู้เช่าเมื่อถูกปองร้าย  หรือดูแลผลประโยชน์และบุตรธิดาของผู้เช่าที่ดินเมื่อเสียชีวิต 
 ระบบศักดินามีลักษณะการกระจายอำนาจจากรัฐไปยังขุนนาง  ขุนนางคนใดเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่และอุดมสมบูรณ์ก็จะมีอิทธิพลทางการเมืองมาก หากอำนาจรัฐอ่อนแออำนาจของขุนนางจะเข้มแข็งแทน  ระบบศักดินาหมดไปเมื่อมีรัฐประชาชาติและการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางภายใต้สถาบันกษัตริย์

ความเป็นมาของระบบศักดินา 
กรุงโรมแตกหลังการโจมตีของอนารยชนเผ่าเยอรมัน 3 ครั้งในปีค..410  ..455 และค..476 ผู้นำชาวเยอรมันเผ่าวิซิกอธ (The Visigoths) ได้ตั้งตัวเป็นประมุขและทำลาย                   อารยธรรมทุกอย่างในดินแดนเหนือเทือกเขาแอลป์  จนความเจริญต่างๆสูญสิ้นลงไปอย่างสิ้นเชิง
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6-8  ยุโรปกลาง  เหนือและตะวันตกเป็นดินแดนที่มีการรบวุ่นวายจนกระทั่งระหว่างศตวรรษที่ 9-11  จึงเกิดระบบการปกครองที่ผสมผสานอารยธรรมกรีก  โรมัน กอล (Gaul) และเยอรมันเข้าด้วยกัน กลายเป็นจารีตที่เน้นกรรมสิทธิ์ที่ดินและความผูกพันแบบสังคมกสิกรรมศักดินา (Feudal  Agarian  Society) ระหว่างชาวนา ทาสและเจ้าของที่ดินโดยมีศาสนาเป็นตัวเชื่อม

ปัจจัยในการก่อตัวของระบบศักดินาแบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ
1. การรับจารีตการปกครองทางโลกมาจากโรมัน
ในยุคโรมันมีจารีตที่บุคคลต้องสวามิภักดิ์ต่อผู้มีอำนาจ เพื่อรับความคุ้มครองและทำงานรับใช้เป็นการตอบแทน ความสัมพันธ์เช่นนี้อิสรชนเรียกว่า Patron and Client relationship”  ในกรณีของทาสเรียกว่า Master  and Slave  relationship
ความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่งที่สืบจากสมัยโรมันคือ  เมื่อบุคคลเช่าที่ดินจากเจ้าของที่ดิน เจ้าของที่ดินก็มีพันธะให้ความคุ้มครองผู้เช่า ครั้นชาวกอลและชาวแฟรงค์ยึดครองจักรวรรดิโรมัน อนารยชนทั้ง 2 พวกก็รับจารีตนี้ไว้ด้วย ในยุคเสื่อมของจักรวรรดิโรมัน (คริสต์ศตวรรษที่            3-4) เกิดปัญหาแรงงานเกษตรกรรม  ซึ่งเอื้อต่อระบบศักดินาในสมัยกลาง  ดังนี้ 
- การสร้างอาณานิคมแรงงาน (The Colonate) ซึ่งห้ามเกษตรกรหรือผู้เช่าที่ดินย้ายถิ่นฐาน  เพื่อประกันผลผลิตและป้องกันการอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่  ทำให้แรงงานเกษตรกรรมกลายเป็นทาสติดที่ดิน (serf) ภายใต้อำนาจของเจ้าที่ดิน  
- การเช่าที่ดินระยะยาว (The Precarium) เกิดจากการที่กฎหมายยอมให้เกษตรกรซึ่งผิดสัญญาเช่าที่ดินถูกไล่ออกจากที่ดินได้  เจ้าที่ดินรายย่อยจึงยอมยกที่ดินให้เจ้าหนี้หรือเจ้าที่ดินรายใหญ่เพื่อแลกกับการคุ้มครอง จึงเป็นที่มาของการตกอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าที่ดิน จำนนต่ออำนาจส่วนกลาง  ในสมัยศักดินารุ่งเรืองเจ้าที่ดินจึงมีอำนาจเด็ดขาดเหนือประชาชนทั้งทางการบริหาร  กฎหมายและตุลาการ 

2. การรับรูปแบบการปกครองทางศาสนามาจากโรมัน
ระหว่างที่จักรวรรดิโรมันแบ่งเป็นจักรวรรดิโรมันตะวันออกและจักรวรรดิโรมันตะวันตกนั้น  อำนาจของพระสันตะปาปาแห่งกรุงโรมทั้งด้านศาสนาและการเมืองมีสูงมาก ทำให้รอดพ้นจากการถูกทำลายและสามารถพัฒนามาเป็นการปกครองคณะสงฆ์  มีการรักษาผลประโยชน์ของสถาบันศาสนาแบบ “Benefice คือ จารีตการยกที่ดินของวัดให้เอกชนเช่า โดยรับค่าตอบแทน คือ แรงงานและการเป็นทหารหรือยกผลผลิตให้แก่วัด
ราชวงศ์เมโรวินเจียนของชาวแฟรงค์และราชวงศ์ชาร์เลอมาญของเผ่าเยอรมัน ได้นำระบบBeneficeไปใช้ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 โดยการให้สิทธิเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากที่ดินตอบแทนความชอบของอัศวิน  เมื่อระบบกษัตริย์อ่อนแอที่ดินของกษัตริย์จึงถูกขุนนางยึดครอง และนำมาสู่การริดรอนอำนาจสถาบันกษัตริย์ในสมัยกลาง

3. โครงสร้างทางสังคมของอนารยชนเผ่าเยอรมัน
อนารยชนเผ่าเยอรมัน หมายถึง ชนเผ่ากอธ (วิซิกอธ และออสโตรกอธ) เผ่า แฟรงค์ เผ่าแวนดัล  เผ่าติวตอนและเผ่าอเลมานนี  ซึ่งเชื่อเรื่องพันธะของญาติพี่น้อง (Bond  of  Kinship)  และเกียรติยศของบุคคลเมื่อถูกลบหลู่  โดยญาติจะแก้แค้นหรือเรียกร้องค่าเสียหายตามค่าตัว  ซึ่งกษัตริย์หรือผู้นำทัพจะไม่มีอำนาจเหนือเผ่าพันธุ์  ยกเว้นการเป็นผู้นำในการรบอันเป็นลักษณะของการกระจายอำนาจ  และการเน้นความสัมพันธ์ส่วนบุคคลมากกว่าความสัมพันธ์ต่อส่วนกลาง  ทำให้กฎหมายของชนเผ่าเยอรมันต่างจากกฎหมายโรมัน
ชาวเยอรมันเชื่อว่า  กฎหมายมิได้เกิดจากอำนาจหรือความปรารถนาของประมุข  แต่เกิดจากธรรมเนียมของเผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการมีเชื้อสายเดียวกัน  ต่างจากกฎหมายของโรมันที่บังคับกับคนทุกเผ่าพันธุ์ในจักรวรรดิ   เมื่อชาวเยอรมันมาตั้งถิ่นฐานในยุโรปตะวันตก  จึงใช้กฎหมายที่เน้นขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งบริวารต้องภักดี ร่วมรบ รับใช้และอุทิศแรงงานให้ผู้นำ  ส่วนผู้นำก็ต้องตอบแทนด้วยการให้ความคุ้มครอง  แนวคิดนี้ได้ผสมกลมกลืนจนกลายเป็นระบบศักดินาในที่สุด (กอบเกื้อ, 2528, 148-152)
โครงสร้างของระบบศักดินาประกอบด้วยชนชั้นต่างๆได้แก่ กษัตริย์ (Suzerain/Over lord) ขุนนางชั้นสูงและผู้สวามิภักดิ (Lords/Vassals) ชาวนาและขุนนางผู้น้อย อัศวิน (Peasants /  Subvassals/Knight) และทาส (Serfs)
ตามทฤษฎีแล้วกษัตริย์เป็นเจ้าที่ดิน(Fief)ซึ่งไม่ขึ้นกับใคร แต่ในทางปฏิบัติ กษัตริย์อาจเป็นทั้ง Zuzerain และ Vassal  อาทิ กษัตริย์วิลเลียมผู้พิชิต (..1060-1087) ทรงเป็นทั้ง ดยุคแห่งนอร์มังดีของฝรั่งเศสและเป็นกษัตริย์อังกฤษ  ทรงมีขุนนางอังกฤษเป็นvassalsและมีฐานะเท่าเทียมกับกษัตริย์ฝรั่งเศส  แต่เมื่อเป็นยุคแห่งนอร์มังดีก็ต้องภักดีต่อกษัตริย์ฝรั่งเศส ผู้พระราชทานแคว้นนอร์มังดีแก่บรรพบุรุษของพระองค์ ยกเว้น Duke  Charles  the  Bold  of  Burgandi (1467-1477 AD.)ที่ไม่ต้องเข้าเฝ้าถวายความจงรักภักดีในฐาน Vassal ของกษัตริย์ฝรั่งเศส เนื่องจากทรงมีอำนาจมาก
Lords  คือขุนนางชั้นสูงซึ่งได้รับพระราชทานกรรมสิทธิ์ที่ดิน  มีอำนาจเหนือชีวิตความเป็นอยู่ของสามัญชนผู้เช่าที่ดินของตน  Lords ต้องจงรักภักดีต่อ Suzerain  มิฉะนั้นพันธะที่มีต่อกันจะสิ้นสุดลง และ Suzerain สามารถเรียกที่ดินกลับคืนได้  Lords ต้องเป็นทหารและให้คำปรึกษาให้แก่ Suzerain นอกจากนี้ยังต้องส่งเงินเป็นบรรณาการแด่ Suzerain 3 กรณี คือ              เมื่อโอรสองค์แรกของ Suzerain บรรลุนิติภาวะและทำพิธีเป็นอัศวิน เมื่อธิดาองค์แรกของ Suzerain แต่งงาน  และเมื่อ Suzerain ถูกจับเรียกค่าไถ่ 
 Subvassals คือ vassals  ของขุนนางชั้นสูงถือกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่ Lord มอบให้จึงต้องจงรักภักดีต่อ Lord
Peasants และ Serfs คือชาวนาและทาสที่ทำมาหากินบนที่ดินและอยู่ภายใต้การคุ้มครองของ Suzerain/ Lords และ Subvassals ตามลำดับ 
เจ้าที่ดินไม่สามารถขายที่ดินซึ่งชาวนาอิสระทำกินได้ แต่สามารถขายที่ดินซึ่งทาส          ทำกินได้ แม้ Lord จะกดขี่ข่มเหงเพียงใดชาวนาหรือทาสก็ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจาก Suzerain ได้
ระบบศักดินาเป็นระบบโครงสร้างความสัมพันธ์ซึ่งยึดหลักการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของขุนนางเป็นพื้นฐานในการปกครอง แต่ Suzerain ไม่มีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองเหนือดินแดนทั้งหมดอย่างแท้จริง  ทรงมีอำนาจเด็ดขาดเฉพาะใน Fiefs หรือที่ดินที่มิได้ยกให้แก่ผู้ใดเท่านั้น อาทิในคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 กษัตริย์ฝรั่งเศสทรงมีอำนาจเหนือกรุงปารีสและ            อิล  เดอ ฟรองซ์ (Ile de France) เท่านั้น  ส่วนดินแดนอื่นๆนั้นอยู่ใต้อำนาจของ Lords ทั้งหมด (กอบเกื้อ, 2528, 155)

สังคมยุคกลาง

Manorเป็นหน่วยปกครองทางการเมือง  สังคมและเศรษฐกิจระดับพื้นฐานในยุคกลางเชื่อมโยงเจ้าที่ดิน (Lord) กับประชากรเอาไว้  การปกครองนี้เรียกว่าระบบ Manorialism
Manor  เป็นหน่วยย่อยของ Fief มีขุนนางผู้น้อยหรืออัศวินเป็นผู้ปกครองขุนนางชั้นสูงจะเป็นผู้ปกครองของ Manor หลายแห่ง  บาง Manor มี Lords  อัศวิน  เจ้าอาวาสหรือกษัตริย์เป็นผู้ปกครอง  แต่ละ Manor จะมีขนาดต่างกัน  Manor เล็กที่สุดอาจมีที่ดินเพียง 300-400 เอเคอร์  ภายในmanorก็จะประกอบด้วยหมู่บ้านตั้งแต่หนึ่งหมู่บ้านขึ้นไป
ประชากรของ Manor ประกอบด้วย ชาวนา ช่าง ทาส พ่อค้า บาทหลวง ตำแหน่งผู้ปกครองเรียกว่า Seigneur  มีระเบียบกฎเกณฑ์เด็ดขาดที่กำหนดขึ้นมาเองเป็นบรรทัดฐานทางการปกครอง ส่วนกฎหมายศักดินา (Customary  law) นั้น คุ้มครองชาว Manor แต่เพียงผิวเผิน  ประชากรใน manor ต้องเสียภาษีรายปี ภาษีมรดกและภาษีแรงงานให้แก่เจ้าที่ดิน ประชากรในManor จำแนกได้ดังนี้
Villein คือ ชาวนาเจ้าที่ดินรายย่อย  ซึ่งยกที่ดินให้แก่ลอร์ดแลกกับการคุ้มครอง  ระยะหลังมีสถานะไม่ต่างจาก Serfs  แต่เจ้าของที่ดินไม่สามารถขายที่ดินของ Villain แก่ผู้ใดได้
Serfs คือ ทาสติดที่ดินจากการสงคราม ไม่มีสิทธิ์ทางการเมือง เจ้าที่ดินสามารถขายไปพร้อมกับที่ดินได้
Crofters and Cotters คือ คนที่มีสถานภาพทางสังคมต่ำกว่าทาสติดที่ดิน เพราะไม่มีที่ดินทำกิน  เป็นพวกยากไร้ขายแรงงานแก่ villain และ Lord
Slaves คือ ทาสที่ซื้อมาเป็นผู้รับใช้ในบ้าน  มีจำนวนน้อย  เพราะLordsมีแรงงานได้เปล่าจาก Villain และ Sserfs แล้ว
เจ้าที่ดินเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแมนเนอร์ มีสถาบันตุลาการสองประเภทคือ                          ศาลสามัญชนเรียกว่า Cour  Leet ศาลผู้ดีหรือขุนนางเรียก Court  Baron

การเมืองยุคกลาง
 หลังการสิ้นสุดของจักรวรรดิโรมันตะวันตกในปีค..476 อนารยชนเผ่าเยอรมันได้ตั้งอาณาจักรเล็กๆ ทั่วไปในยุโรปกลางและยุโรปใต้ระหว่างระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5-8  ดังนี้
พวกวิซิกอธ (กอธตะวันตกรุกเข้าตอนใต้ของฝรั่งเศสและตอนเหนือของสเปน ก่อตั้งแคว้นอาควิเตน มีตูลูสเป็นเมืองหลวง (ต่อมาแคว้นอาควิเตนส่วนหนึ่งตกเป็นของเผ่าแฟรงค์              อีกส่วนหนึ่งเป็นของพวกมัวร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 7
 พวกออสโตรกอธ (Ostrogoths) หรือกอธตะวันออก เดิมอยู่บริเวณทะเลดำ ต่อมาได้ครอบครองคาบสมุทรอิตาลีในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 5 แต่ก็ถูกจักรวรรดิไบแซนไทน์ทำลายลงตอนกลางตริสตศตวรรษที่6
พวก Vandal เดิมอยู่แถบแม่น้ำวิสตุลา เมื่ออนารยชนเผ่าฮั่นรุกรานยุโรป  ก็ยกข้ามแคว้นกอลเข้าไปยึดเมืองคาร์เทจ จากนั้นกลางคริสต์ศตวรรษที่ 5 ก็ยกเข้าไปตีกรุงโรมและซิซิลี
พวก Angels/Saxons/Juths อพยพจากแหลมสแกนเดียเข้าไปยึดครองเกาะ Britainกลางคริสต์ศตวรรษที่ 5 จากนั้นผสานผสานกับชาวพื้นเมืองกลายเป็นบรรพบุรุษของชาวอังกฤษ
พวก Franks หลังจักรวรรดิโรมันสิ้นสุดลงพวกแฟรงค์เข้ายึดครองแคว้นกอล (ฝรั่งเศสและบางส่วนของเยอรมนี)เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 5 ตั้งราชวงศ์ Merolingian มีบทบาทสำคัญในการสร้างอารยธรรมยุโรปสมัยกลาง
อำนาจของชนเผ่าเยอรมันมาจากการใช้คมหอกสั้นปลายแคบและเครื่องมือเหล็ก               แต่โครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจกลับมีลักษณะแบบมนุษย์สมัยหินใหม่  คือกึ่งเลี้ยงสัตว์กึ่งเพาะปลูกไม่รู้จักใช้เงินชอบการต่อสู้  กษัตริย์มีอำนาจสูงสุด มาจากการเลือกตั้ง  ยกย่องเพศหญิงมากกว่าสังคมโรมัน  เด็กชาย-หญิงได้รับการอบรมเลี้ยงดูเทียมกัน (อนันต์ชัย2529, 40)

คริสตศาสนา (Christianity)
คริสตศาสนาเผยแพร่ในจักรวรรดิโรมันตั้งแต่ต้นคริสตกาลแต่ไม่ได้รับความนิยม  ต่อมาในปีค.ศ.312 จักรพรรดิคอนสแตนตินทรงยอมให้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ได้ ทำให้ชาวโรมันทิ้งลัทธิการบูชาเทพเจ้าและภูตผี  การคุกคามของอนารยชนและการแย่งชิงอำนาจของผู้ปกครองจึงทำให้ชาวโรมันหันมานับถือคริสต์ศาสนา หลังจักรวรรดิโรมันตะวันตกสิ้นสุดลง คริสต์ศาสนาเป็นสถาบันเดียวที่ยืนหยัดได้ภายใต้การนำของพระสันตปาปาแต่จักรพรรดิกลับหมดอำนาจสิ้นเชิง
สถาบันคริสตศาสนาได้สืบทอดอารยธรรมของโลกคลาสสิกไว้  เมื่ออนารยชนหันมานับถือศาสนาคริสต์  สถาบันศาสนาก็ยิ่งมีอำนาจเพิ่มขึ้นเพราะคนต้องการความสุขในโลกหน้า ยุคกลางจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  “ยุคแห่งศรัทธา (The  Age  of the  Faith)
ศาสนาคริสต์มีบทบาทต่อวิถีชีวิต การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและขนบธรรมเนียมประเพณีของยุโรปสมัยกลางเป็นอันมาก ชาวคริสต์เกี่ยวข้องกับศีล 7 ประการดังนี้
- ศีลล้างบาปแรกเกิด (Baptism)  เป็นศีลที่ชำระล้างดวงวิญญาณให้บริสุทธิ์
- ศีลสง่า (Confirmation) เมื่อเด็กมีวัยสมควรต้องรับศีลสง่าเพื่อประกาศตนเป็น  คริสเตียน
- ศีลสมรส (Matrimony) ประกอบพิธีในวันแต่งงานเพื่อยืนยันว่าเป็นการสมรสภายใต้สายตาพระเจ้า
- ศีลบวช (Holy  Orders) ผู้บวชต้องปฏิญาณ 3 ข้อ คือ จะยึดถือความยากจนการเชื่อฟังพระเจ้าและการยึดพรหมจรรย์เป็นสรณะ
- ศีลมหาสนิท (Eucharist) พิธีรำลึกถึงวันตายของเยซู ผู้รับศีลต้องรับประทานปัง  (Eucharist Bread) และเหล้าองุ่นอันหมายถึงพระวรกายและพระโลหิตของเยซู
- ศีลแก้บาป (Penance) การล้างบาปจากการดำรงชีพเป็นคราวๆไป
- ศีลบทสุดท้าย (Extreme  Unction) รับครั้งสุดท้ายก่อนตายเพื่อให้วิญญาณบริสุทธิ์             ศาสนาคริสต์เจริญสูงสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 จากนั้นก็เริ่มเสื่อมลง เนื่องจากพระสันตปาปาและบาทหลวงประพฤติมิชอบ  ต่อมาชาวยุโรปได้ให้ความสนใจเรื่องอำนาจทางโลกมากขึ้น อิทธิพลและความสำคัญทางศาสนาจึงลดลงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมขณะนั้นเป็นอันมาก 

โครงสร้างสถาบันคริสตศาสนาประกอบด้วย พระสันตะปาปา (Pope) Cardinal Archbishop Bishop และคณะสงฆ์ฐานะตามลำดับลดหลั่นลงไป สำนักพระสันตะปาปาเป็นสถาบันกำหนดนโยบายทางศาสนาและบริหารการปกครองที่เคร่งครัดแบบโรมัน  พระสันตะปาปาทรงมีอำนาจลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎศาสนาเป็นที่เกรงกลัวของทุกชนชั้น  2 ประการ คือ การขับไล่บุคคลออกจากศาสนา (Excommunication) การขับไล่ชุมชนออกจากศาสนา (Interdict)  

คริสตศาสนิกชนเชื่อว่า กรุงโรมเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นที่ฝังร่างของนักบุญ            ปีเตอร์  สาวกเอกของพระเยซู  จึงถือว่านักบุญปีเตอร์เป็นประมุของค์แรก  จักรวรรดิโรมันถือว่า ตำแหน่งสังฆราชแห่งกรุงโรมเป็นตำแหน่งสำคัญที่สุด 
ในปีค..445 จักรพรรดิวาเรนติเนียนประกาศให้สังฆราชทุกองค์ของจักรวรรดิโรมันตะวันตกเชื่อฟังประกาศของสังฆราชแห่งโรม  ซึ่งต่อมาเรียกตำแหน่งสังฆราชแห่งโรมว่า               “พระสันตะปาปา (Pope)”  
พระสันตปาปามีอำนาจที่สุดระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12-13  พระองค์ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น “King  of  the  Kings” แห่งยุโรปตะวันตก วาจาของพระองค์ถือเป็นประกาศิต  ในสมัยกลางตอนปลายอำนาจดังกล่าวเสื่อมลง การขับบุคคลและชุมชนออกจากศาสนาก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป พระสันตปาปาจึงเป็นเพียงศูนย์รวมจิตใจของชาวคริสต์เท่านั้น(อนันต์ชัย, 2528, 44-45)
อาณาจักรคาโรลินเจียน
อาณาจักรคาโรลินเจียนพัฒนามาจากอาณาจักรเมโรวินเจียนในแคว้นกอล  ซึ่งยอมให้พลเมืองนับถือศาสนาคริสต์ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 5 ครั้นถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7 อำนาจของอาณาจักรเมโรวินเจียนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของขุนนางตระกูลคาโรลินเจียน    
ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 แม่ทัพชื่อชาร์ล  มาร์เตล(Charle Martel)แห่งตระกูลคาโรลินเจียนรวบรวมอาณาจักรแฟรงค์เป็นปึกแผ่นต่อต้านการรุกรานของมุสลิม  ทำให้ Pepin  the  Short ยึดอำนาจจากราชวงศ์เมโรวินเจียน และสถาปนาราชวงศ์คาโรลินเจียนขึ้นภายใต้การสนับสนุนของพระสันตะปาปาผู้ทรงสถาปนาชาร์เลอมาญ (Charlemagne) โอรสของเปแปงเป็นจักรพรรดิแทน  
จักรพรรดิชาร์เลอมาญถูกเรียกว่า “The Carolingian  Renaissance  พระองค์สนใจทั้งศาสนา วัฒนธรรม ศิลปะและการศึกษา ราชสำนักของพระองค์จึงมีนักปราชญ์มากมาย ทรงตั้งเมืองหลวงขึ้นที่เมืองอาเคน (Aachen) ซึ่งจำลองแบบมาจากกรุงคอนสแตนติโนเปิลของจักรวรรดิไบแซนไทน์ และทรงเรียกเมืองอาเคนว่า “โรมใหม่”
อาณาจักรคาโรลินเจียนเริ่มเสื่อมลงในสมัยพระเจ้าหลุยส์ (Louis the Pious  814-840 AD.) ทำให้อาณาจักรถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนตามสัญญาแวร์ดัง (The treaty of Verdun) คือ 
- ส่วนแรก จักรพรรดิ Lothair ปกครองอาณาจักรส่วนกลางได้แก่อิตาลี  เบอร์กันดี  อัลซาด  ลอเรนท์  เนเธอร์แลนด์และเดนมาร์ก
- ส่วนที่สอง  Louis the German  ปกครองเยอรมัน 
- ส่วนที่สาม  Charle the Bold ปกครองฝรั่งเศส

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 อาณาจักรแฟรงค์หรือคาโรลินเจียนถูกพวกไวกิ้งรุกราน ทำให้ระบบรวมศูนย์อำนาจกระจายไปยังขุนนาง  และวิวัฒนาการมาเป็นการปกครองแบบฟิวดัล
ปีค..962 ศาสนจักรพยายามสร้างเอกภาพแก่ยุโรปตะวันตกและรื้อฟื้นอาณาจักรคาโรลินเจียน   โดยPope  Johnที่ 12  ทรงประกอบพิธีสวมมงกุฎแก่กษัตริย์ออตโตที่ 1 (Otto 1แล้วสถาปนากษัตริย์ออตโตที่1เป็นจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (The  Emperor  of  the  Holy  Roman  Empire) แต่สามารถรวมอิตาลีและรัฐเล็กๆในเยอรมันที่กำลังแตกแยกเพราะระบบฟิวดัลได้เพียงหลวมๆเท่านั้น  จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มีอายุยืนยาวมาถึง ค.ศ.1860 ก็ถูกจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (Napoleon I) แห่งฝรั่งเศสประกาศโมฆะ

การฟื้นตัวของเมือง

ความเสื่อมของจักรวรรดิโรมันทำให้เมืองศูนย์กลางทางการค้าและศิลปวัฒนธรรมสิ้นสุดบทบาทลงไปด้วย  สำนักบาทหลวงและโบสถ์ในชนบทจึงกลายเป็นศูนย์กลางแห่งการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมแทนเมืองนานกว่า 500 ปี
ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ประชากรยุโรปเพิ่มจำนวนขึ้นเนื่องจากบ้านเมืองมีสภาวะปกติและไม่มีโรคระบาดทำให้เศรษฐกิจจึงดีขึ้นและอิตาลีได้กลับมีอิทธิพลทางการค้าในทะเล                   เมดิเตอ เรเนียนอีกครั้ง การค้าทำให้เมืองเก่าๆในอดีตของจักรวรรดิโรมันมีชีวิตชีวาอีกครั้ง              อีกทั้งยังมีเมืองใหม่ๆเกิดขึ้นมา อาทิ มิลาน ฟลอเรนซ์  และฟลันเดอร์  ซึ่งยืนหยัดอยู่ได้ด้วยภาษีและผลประโยน์ทางการค้า มิได้เก็บเกี่ยวค่าเช่าที่ดิน ค่าเช่านา  และผลประโยชน์อื่นๆจากชนบท 
เมืองในสมัยกลางเป็นเมืองขนาดเล็กมีกำแพงล้อมรอบ  ผู้คนอยู่อย่างหนาแน่น  เศรษฐกิจตอบสนองชาวเมืองเท่านั้น  ชาวเมืองยากจนถูกเก็บภาษีหลายอย่าง  เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นก็สามารถจ่ายเงินซื้อสิทธิบัตรต่างๆ (Charters) จากเจ้าของที่ดินเพื่อปกครองตนเอง ส่วนเจ้าของที่ดินก็นำเงินไปใช้ทำสงครามกับเจ้าของที่ดินรายอื่น (อนันต์ชัย 2529, 56-57)

สมาคมการค้าหรือสมาคมอาชีพ

ชาวเมืองปกครองตนเองภายใต้นโยบายของสมาคมอาชีพ (Guilds) ควบคุมการผลิต  คุณภาพ  ราคาและจัดจำหน่ายสินค้าแต่ละประเภทในเมือง  พ่อค้าและช่างฝีมือต้องเป็นสมาชิกสมาคมการค้าและสมาคมช่างฝีมือ องค์กรแต่ละแห่งประกอบด้วยนายงาน (Master)  ลูกจ้างรายวัน (Journeyman)  และเด็กฝึกงาน (Apprentice)  การทำงานเริ่มจากการเป็นเด็กฝึกงานกับนายจ้าง 3-10 ปี (อาทิ  ช่างทองฝึกงาน 10 ปีจากนั้นเลื่อนเป็นลูกจ้างรายวัน  หากลูกจ้างรายวันมีฝีมือดีและมีฐานะดีก็เลื่อนเป็นนายงานได้ภายใน 3 ปี  โดยต้องผลิตงานชิ้นเอกให้องค์กรยอมรับ
นอกจากนี้นักรบ นักคิด  นักเขียนและอื่นๆก็ต้องเป็นสมาชิกสมาคมที่เกี่ยวข้องกับอาชีพตน  แต่ละสมาคมก็มีระเบียบและจรรยาบรรณควบคุมสมาชิกให้ทำงานได้มาตรฐาน เช่น  หากคนทำขนมปังทำขนมปังไม่ได้น้ำหนักก็จะถูกเอาขนมปังห้อยคอประจาน  คนทำไวน์ผลิตไวน์ไม่มีคุณภาพก็ถูกบังคับให้ดื่มไวน์แล้วเอาส่วนที่เหลือราดตัว  และสมาคมอาชีพยังกีดกันมิให้สมาชิกผลิตสินค้าอื่นนอกเหนือจากที่ตกลงไว้ ทำให้ขาดการคิดสร้างสรรค์สินค้าอื่นออกสู่ท้องตลาด ครั้นถึงสมัยกลางตอนปลายสภาวะเช่นนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปเมื่อความคิดเรื่องปัจเจกชนมาแทนที่
กำเนิดมหาวิทยาลัยในยุโรป
มหาวิทยาลัยบางแห่งเกิดจากการรวมตัวของอาจารย์และปัญญาชนกลุ่ม University อันเป็นองค์กรทางวิชาชีพในเมือง  มหาวิทยาลัยบางแห่งขยายตัวมาจากโรงเรียนวัด (Monastery  School หรือ Cathedral School)  บางแห่งเกิดจากการรวมตัวของอาจารย์และนักศึกษา การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแพร่หลายมากระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 มหาวิทยาลัยปารีสมีชื่อเสียงมากที่สุดทางตอนเหนือ มหาวิทยาลัยโบโลญยาในอิตาลีมีชื่อเสียงที่สุดทางตอนใต้ มหาวิทยาลัยปารีสเป็นแม่แบบของมหาวิทยาลัยในอังกฤษ  เยอรมนี  เดนมาร์ก  สวีเดนและสกอตแลนด์  คณาจารย์มีสิทธิ์โดยสมบูรณ์ในการบริหารมหาวิทยาลัย   ส่วนในอิตาลี สเปนและโปรตุเกส องค์กรนักศึกษาเป็นผู้มีอำนาจออกกฎเกณฑ์และดูแลความประพฤติของอาจารย์อย่างเคร่งครัด  หากอาจารย์สอนเร็วหรือขาดสอนจะถูกลงโทษ  เช่น ริบเงินประกัน  หรือถูกขับออกจากเมือง  และหากนักศึกษาไม่อนุญาตอาจารย์ก็จะออกนอกเมืองไม่ได้ (อนันต์ชัย, 2529, 58-59)
การขยายตัวของเมืองจากความเจริญทางการค้าและการรับวิทยาการใหม่ๆจากยุโรปตะวันออกและเอเชียไมเนอร์ อาทิ วิชาปรัชญา  คณิตศาสตร์  แพทย์  และกฎหมาย  ซึ่งสูญหายไปจากยุโรปตะวันตกหลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันและการทำสงครามครูเสดทำให้มหาวิทยาลัยเติบโตอย่างรวดเร็ว               
  ระยะแรกที่เริ่มมีหลักสูตรแน่นอน  มหาวิทยาลัยนำระบบองค์กรวิชาชีพ (Guild)                มาใช้ นักศึกษาจึงมีฐานะเป็นเพียงเด็กฝึกงาน (Apprentice)  ต้องเรียนวิชา  ไวยากรณ์  ศิลปะการพูดและตรรกวิทยานาน 4-5 ปีเป็นวิชาพื้นฐาน (Trivium) เมื่อจบแล้วจะเลื่อนฐานะเป็น Bachelor  of Arts เทียบเท่ากับลูกจ้างรายวัน (Journeyman) จากนั้นจึงเรียนวิชาเบื้องต้นชั้นสูง (Quadrivium) ได้แก่วิชาคณิตศาสตร์  ดาราศาสตร์  เรขาคณิตและการดนตรี  ควบคู่ไปกับวิชาปรัชญาแนวต่างๆ  อาทิ  แนวอริสโตเติล  อีก 2-4 ปี เมื่อเรียนจบแล้วนักศึกษาจะมีฐานะเป็น  Master  of  Arts  และสามารถศึกษาวิชาชั้นสูงอื่นๆ ต่อไปได้ เพื่อเป็น Doctor เช่น เทววิทยา  แพทย์ศาสตร์และนิติศาสตร์  เป็นต้น
ด้านการเรียนการสอนนั้น มหาวิทยาลัยยังไม่มีอาคารเรียน ห้องสมุดหรืออุปกรณ์           จึงต้องใช้โบสถ์หรือห้องโถงของมหาวิหารหรือห้องเช่าเพื่อการเรียน  ทำให้อาจารย์และนักศึกษามักย้ายมหาวิทยาลัยไปยังต่างเมือง เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องค่าเช่าสถานที่ อาหาร ฯลฯ
ตำราเรียนขณะนั้นต้องคัดลอกด้วยมือ เพราะเครื่องพิมพ์เพิ่งจะถูกประดิษฐ์ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ทำให้หนังสือมีราคาแพงและหายาก  การเรียนระยะแรกจึงเป็นการอ่านตำราให้นักศึกษาจดตามชนิดคำต่อคำ  อาจารย์มีหน้าที่ตีความประโยคที่นักศึกษาไม่เข้าใจ  การวัดผลมีทั้งสอบข้อเขียนและปากเปล่า เปิดโอกาสให้มีการซักถามได้ทั้งวัน

มหาวิทยาลัยมีการสอนด้วยหลักสูตรที่แน่นอน  มีการสอบวัดผลและมอบปริญญาบัตร  สมัยกรีก-โรมัน  แม้จะมีสถาบันชั้นสูงให้การศึกษา แต่จำกัดจำนวนนักศึกษารับเฉพาะนักศึกษาท้องถิ่นและมีอาจารย์เพียง 1-2 คนเท่านั้น  สอนแต่วิชาที่อาจารย์ถนัดไม่มีหลักสูตรตายตัว ไม่มีการสอบและไม่มีการมอบปริญญา
การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเป็นไปอย่างกว้างขวาง  เมื่อสิ้นสุดยุคกลางปรากฏว่ามีมหาวิทยาลัยในยุโรปทั้งสิ้นกว่า 80 แห่ง  มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีประวัติศาสตร์และมีชื่อเสียงด้านการเรียนการสอนยาวนาน เช่น ปารีส  โบโลญา  ปาดัว ออกฟอร์ดและเคมบริดจ์ เป็นต้น

สงครามครูเสด
สงครามครูเสดเป็นสงครามศาสนาระหว่างชาวคริสต์กับชาวมุสลิม (1096-1291 AD.)  ผลของสงครามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิต การปกครอง การศึกษาและวัฒนธรรมฯลฯ ของชาวยุโรปอย่างมาก
ความขัดแย้งระหว่างคริสต์กับอิสลามตั้งแต่ต้นคริสศตวรรษที่7 เป็นสาเหตุของสงครามครูเสด เมื่อชาวมุสลิมรุกรานและยึดครองยุโรปบางส่วน ทำให้ชาวคริสต์ขัดขวางการขยายตัวของศาสนาอิสลาม ซึ่งชาวคริสต์ถือว่าเป็นภัยต่อจักรวรรดิไบแซนไทน์และนิกายกรีกออร์โธดอกซ์ 
เมื่อชาวเตอร์กยึดครองเยรูซาเลมในค..1076  ก็ได้ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของชาวคริสต์ที่ไปพำนักและแสวงบุญอย่างโหดร้าย  และในทศวรรษ 1090 ชาวเตอร์กยังมีท่าทีคุกคามจักรวรรดิไบแซนไทน์ด้วย ในปีค.ศ.1095 จักรพรรดิอเล็กซิอุส โคมินุส (Alexius  Comenus)  ทรงขอความช่วยเหลือจากพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 (Urban  II) แห่งกรุงโรม ผู้ประสงค์จะปรองดองกับศูนย์กลางศาสนาแห่งไบแซนไทน์ พระองค์จึงระดมชาวคริสต์จาก 2 จักรวรรดิที่เมือง เคลมองต์  และทรงสัญญากับชาวคริสต์ว่าจะทรงยกบาปและหนี้สินแก่ทุกคนที่ร่วมรบต่อต้านชาวมุสลิม  ชาวคริสต์ที่เสียชีวิตจากการรบวิญญาณจะขึ้นสวรรค์  ทำให้มีชาวคริสต์จำนวน 25,000-30,000 คนอาสาเข้าร่วมรบ
สงครามครูเสดเกิด 9 ครั้ง การรบครั้งแรกระหว่างค..1096-1099 เท่านั้นที่เกิดจากศรัทธาอันแรงกล้าต่อพระเจ้า ไม่มีเหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจและอื่นๆมาเกี่ยวข้อง ทำให้นักรบครูเสดสามารถยึดครองกรุงเยรูซาเล็มและจัดระบบการปกครองแบบฟิวดัลที่เยรูซาเล็มได้                 แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ถูกผลักดันกลับ  ในสงครามครูเสดครั้งที่ 2 นักรบฝ่ายคริสเตียนประสบกับความพ่ายแพ้ การทำสงครามครั้งหลังๆเกิดขึ้นอย่างขาดเป้าหมายที่แท้จริง  บางครั้งก็มีการหักหลังหลอกลวงผู้แสวงโชคไปขายเป็นทาสที่แอฟริกาเหนือ บางครั้งก็ปล้นสะดมบ้านเมืองของชาว             คริสเตียนด้วยกัน 
สงครามครั้งที่ 4  แทนที่จะรบกับชาวมุสลิม กองทัพครูเสดกลับเข้ายึดกรุงคอนสแตนติโนเปิล และตั้งราชวงศ์ปกครองจักรวรรดิไบแซนไทน์นานเกือบสิบปี ก่อนจะถูกเชื้อสายจักรพรรดิราชวงศ์เดิมขับไล่ออกมา  สงครามครูเสดครั้งสุดท้ายในปีค..1291 ชาวคริสต์พ่ายแพ้อย่างยับเยิน

ผลกระทบของสงครามครูเสด
ผลจากสงครามทำให้ชาวคริสต์เปิดรับความรู้ ภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและทัศนคติกับชาวตะวันออกอย่างกว้างขวางส่งผลให้การค้าเจริญเติบโตขึ้น อาทิ  สินค้าประเภทผ้าไหม  พรม  เครื่องปั้นดินเผา  เครื่องแก้ว  เครื่องเทศ  ยารักษาโรค  น้ำหอม สีย้อมผ้า  ผ้าฝ้าย ฯลฯ  และกระตุ้นให้มีการเร่งผลผลิตทางเกษตรกรรมและหัตถกรรม เมื่อชาวยุโรปนำวิทยาการกลับมาเผยแพร่ จึงก่อให้เกิดความตื่นตัวทางการศึกษาและศิลปะ ทำให้ระบบฟิวดัลและระบบแมนเนอร์               ซึ่งปิดกั้นเสรีภาพและความสามารถของปัจเจกชนถูกทำลาย  เปิดโอกาสให้ Vassal และVillain สามารถจ่ายเงินแก่ Lord แทนการรับใช้ด้วยกำลังทหารและแรงงาน  ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในระบบฟิวดัลจึงเสื่อมคลาย  สงครามครูเสด ทำให้ลอร์ดยากจนเนื่องจากต้องใช้เงินในการรบ จึงเปิดโอกาสให้กษัตริย์กลับมามีอำนาจตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างแท้จริง(อนันต์ชัย, 252956-63)

 
แผนที่ยุโรปยุคกลาง (Edward Lucie-Smith, 1992, 109)

ศิลปะสมัยกลาง
สถาปัตยกรรมสมัยกลาง  จำแนกออกเป็น 3 รูปแบบคือ
 - สถาปัตยกรรมแบบยุคกลางตอนต้น  พบน้อยและมีพัฒนาการที่ไม่สามารถจัดเข้ากลุ่มสถาปัตยกรรมใดได้  เช่น  วิหารของพระเจ้าชาเลอมาญมีอิทธิพลของศิลปะแบบคริสเตียนยุคต้นและศิลปะไบแซนไทน์  ซึ่งแม้จะสร้างด้วยหิน  แต่ก็แลเห็นได้ชัดว่าเลียนเครื่องไม้ตามแบบอย่างของพวกบาร์แบเรียนก่อนที่จะเข้ามาติดต่อกับจักรวรรดิโรมัน


 
วิหารพระเจ้าชาเลอมาญเมืองอาเคน  เยอรมนี ประมาณค..792-805 หอกลมที่เห็นมีรูปแบบคล้ายกับวิหารซานวิตาเล ที่เมืองราเวนนา แต่แผนผังเรียบง่ายกว่า หอรูปแปดเหลี่ยม           ตรงกลางมีทางเดินวนรอบ  แต่มีขนาดเล็กคล้ายโบสถ์สมัยจักรพรรดิจัสติเนียนแห่งจักรวรรดิ             ไบแซนไทน์  และทางเดินที่มีหลังคาคลุมด้านบนมีอิทธิพลของศิลปะโรมัน  สังเกตได้จากรูปแบบของเสาที่ถูกนำมาใช้ใหม่(Edward Lucie-Smith, 1992106 and 112)








โบสถ์ All  Saints  Church  ที่เอิร์ล บาร์ตัน นอร์แธมตันไชร์ อังกฤษ เป็นโบสถ์แบบแองโกล-แซกซอนที่ยังเหลืออยู่  มีอายุประมาณครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 10 ไม่มีอิทธิพลของศิลปะโรมันแล้ว  แต่ด้านนอกยังตกแต่งเลียนแบบเครื่องไม้  รูปแบบหอสูงสี่เหลี่ยมเป็นลักษณะเฉพาะของยุโรปตะวันตกที่มิได้รับอิทธิพลของศิลปะไบแซนไทน์   (Edward Lucie-Smith, 1992, 102)
ภาพจิตรกรรมสมัยยุคกลางตอนต้น
หลักฐานจิตรกรรมสมัยกลางยุคต้นที่ปรากฏคือภาพประกอบหนังสือต่างๆที่เขียนขึ้นร่วมสมัย

ภาพประกอบหนังสือชื่อ Vergil’s  Aeneid  คริสต์ศตวรรษที่ 5 ลักษณะคล้ายภาพโมเซอิกที่วิหารซานตา มาเรีย แมกจิโอเรประเทศอิตาลี  (Edward  Lucie- mith, 1992, 119)


ภาพเซนต์ มาร์ก (Sf.Mare) และเซนต์ ลุก (St.Lue) บนปกหนังสือชื่อ                 The gospel book of Godescale ..781-783 สมัยราชวงศ์คาโรลินเจียน (Edward Lucie-Smith, 1992, 120-121)
สถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ (Romanesque Art)
เป็นสถาปัตยกรรมที่รุ่งเรืองก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 11 ลักษณะเป็นอาคารมีประตูหน้าต่างโค้งกลม กำแพงหนา กระเบื้องปูพื้นขนาดใหญ่ บานหน้าต่างเล็กและเรียวยาว ทำให้ภายในมีลักษณะทึบ ประดับด้วยภาพโมเซอิกประปราย นิยมในช่วงยุคกลางตอนต้น




โบสถ์ชูมิแยก (Jumièges)  ฝรั่งเศส ค..1040 เป็นศิลปะแบบโรมาเนสก์ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะของชาวนอร์แมนไวกิง ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานทางเหนือของฝรั่งเศส เป็นอาคาร             ที่มีรูปแบบเรียบง่าย  แข็งแรง  ไม่ตกแต่งมาก  สร้างก่อนที่ดยุค วิลเลียมจะข้ามไปครองอังกฤษ          ในค..1060 (Edward Lucie-Smith, 1992, 113)


มหาวิหารดูห์แรม ..1093-ประมาณค..1130  เป็นสถาปัตยกรรมสำคัญแห่งหนึ่งของศิลปะ โรมาเนสก์ ลักษณะเด่น คือการนำซุ้มโค้งแบบไขว้ (cross-rib  vaults) มาใช้เป็นครั้งแรก เสาขนาดใหญ่แทนที่จะปล่อยให้ว่างก็ตกแต่งด้วยลวดลายซิกแซ็กและสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน (Edward Lucie- Smith, 1992,  113)


มหาวิหาร สไปเออร์  ลุ่มแม่น้ำไรน์ตอนบน  ประเทศเยอรมนี  มีซุ้มโค้งแบบไขว้ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดในเยอรมนี  มีหอสูงขนาบปีกสองข้างและด้านหลังของอาคาร  พัฒนามาจากรูปแบบของวิหารเวสต์เวอร์ก ( westwork) ของแคว้นคาโรลินเจียน (Edward  Lucie-Smith, 1992, 113 และ 116)

โดมรับศีล (Baptisery) ที่เมืองปิซา  อิตาลี ขวามือเป็นหอเอนปิซาค..1063-1272  สถาปัตยกรรมนี้จัดว่าแปลกไปจากศิลปะแบบโรมาเนสก์  รูปแบบของโดมนี้เริ่มต้นเมื่อชาวเมืองปิซารบแพ้ชาวมุสลิมในสงคราม Palermo  ซึ่งเป็นสงครามทางทะเลในปีค..1063 ทำให้พ่อค้ามุสลิมมีอิทธิพลในทะเล เมดิเตอเรเนียนเป็นเวลานาน (Edward Lucie-Smith, 1992, 116)

จิตรกรรมแบบโรมาเนสก์

ภาพซนต์ จอร์จ กับมังกร จากหนังสือชื่อ St.Gregory’s  Moralia จิตรกรรมสมัยนี้พัฒนารูปแบบเป็นลวดลายเครือเถาและพรรณไม้ (Edward  Lucie-Smith,  1992, 120-121)  
สถาปัตยกรรมแบบกอธิก (Gothic Art) 
สถาปัตยกรรมแบบกอธิกมีพัฒนาการมาจากศิลปะโรมาเนสก์ระหว่างกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12-13  รูปแบบของสถาปัตยกรรมมีลักษณะโปร่งบางและอ่อนช้อยกว่าศิลปะแบบโรมาเนสก์ จุดเด่นของศิลปะกอธิก คือ การใช้เสาค้ำยัน (Butresses) จากภายนอกและการใช้เสาหินรองรับน้ำหนักของหลังคา สถาปัตยกรรมแบบกอธิกจึงแลดูเพรียว  ส่วนประตูก็เปลี่ยนจากโค้งมนขนาดเล็กเป็นโค้งแหลมและกว้าง มีการประดับกระจกสีแบบStained Glassหลากสีสวยงาม โดยไม่คำนึงถึงการรับน้ำหนักของหลังคาอีกต่อไป  
โครงสร้างสถาปัตยกรรมที่มีขนาดสูงใหญ่เช่นนี้ทำให้ได้ชื่อว่า “Gothics Art ซึ่งมาจากชื่อของอนารยชนเผ่า Goths หมายถึง barbarians (Edward Lucie-Smith, 1992, 117) ภายในวิหารแบบกอธิคมีการสร้างรูปเหมือนของนักบุญประดิษฐานประดับไว้ ขณะที่ศิลปะโรมาเนสก์ไม่คำนึงถึงความงามเท่าใดนัก
สถาปัตยกรรมกอธิคสะท้อนให้เห็นการหลุดพ้นจากภาวะกดดันของศาสนาคริสต์             เริ่มคำนึงถึงความงามตามธรรมชาติมากยิ่งขึ้นบ่งชี้ถึงสติปัญญาของศิลปินในสมัยกลางเป็นอย่างดี  สถาปัตยกรรมสำคัญได้แก่ มหาวิหาร Notre Dame de Paris (อนันต์ชัย, 2529, 64) เป็นต้น  พัฒนาการของวงโค้งแบบ Vault ที่สมบูรณ์แบบของสถาปัตยกรรมแบบกอธิกปรากฏที่วิหาร           แซงต์ เดอนีส์ (Saint Denis) นอกกรุงปารีส สร้าง 2 ครั้งระหว่าง ค..1130-1144


มหาวิหารซองส์ (Sens Cathedral) ประเทศฝรั่งเศสค..1130-1164เป็นสถาปัตยกรรมที่ยังคงรักษาอิทธิพลของศิลปะแบบแองโกล-แซกซอนเอาไว้  กล่าวคือสร้างเป็นอาคารสามชั้น  แต่วิหารแซงต์  เดอนี กลับมีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็ว  อีกทั้งยังยอมรับแนวคิดของช่างสกุลอื่นเข้ามาผสมผสานด้วย (Edward-Lucie Smith, 1992, 117-118)


มหาวิหารลาออง (Laon Cathedral) ประเทศฝรั่งเศส มหาวิหารลาออง                    (ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13) เป็นสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่เรียบง่ายและสง่างาม  แม้จะมีรูปแบบเปลี่ยนไปจากเดิม  แต่ก็มีการผสมผสานทางศิลปะกันอย่างลงตัว โดยเฉพาะมีการเพิ่มหน้าต่างรูปดอกกุหลาบขนาดใหญ่ด้านตะวันออกของมุขขวาง ซึ่งแพร่เข้าสู่ฝรั่งเศส  และอังกฤษผ่านอิตาลี นอกจากนี้หอคอยส่วนบนที่โปร่งตายังเป็นลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมสมัยนี้ด้วย แสดงถึงความสุกงอมเต็มที่ของสถาปัตยกรรมแบบกอธิก (Edward-Lucie Smith, 1992, 118-119)



แท่นร้องเพลงสวด (Choir) ภายในมหาวิหารแห่งแคนเทอร์เบอรี ประเทศอังกฤษสร้างเมื่อ ค..1174 เริ่มปรากฏรูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบกอธิก (Edward – Lucie  Smith,  1992, 119)
วรรณกรรมสมัยกลาง
วรรณกรรมสมัยกลางมีทั้งวรรณกรรมทางโลกและทางศาสนา   
- วรรณกรรมทางศาสนา เขียนเป็นภาษาละติน งานชิ้นหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนสมัยกลางมาก คือ เทวนคร (The  city  of  God)  โดยนักบุญ Augustin (354-430 AD.)  เขียนตั้งแต่ปลายสมัยโรมัน กล่าวถึงการสร้างโลกและกำเนิดของมนุษย์  การไถ่บาปและการพิพากษาครั้งสุดท้ายก่อนที่มนุษย์จะกลับไปสู่ดินแดนของพระเจ้า
งานเขียนอีกชิ้นหนึ่ง คือ Summa Theologica โดยนักบุญ Thomas Aquinas (1224-0174 AD.) ซึ่งถูกนำมาสอนในเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเทววิทยาในมหาวิทยาลัยต่างๆ เน้นความเชื่อและศรัทธาในศาสนาอย่างมีเหตุมีผล  มีการนำปรัชญาของอริสโตเติลมาผสมผสานด้วย

วรรณกรรมทางโลกสมัยกลาง แบ่งเป็น 4 ประเภทคือ
มหากาพย์ (Epics หรือ Chanson  de  Gaste)  เป็นเรื่องราวการสร้างวีรกรรมของวีรบุรุษในอดีต แต่งเป็นโคลง เจริญแพร่หลายในคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 มหากาพย์ที่มีชื่อเสียงคือ  Chanson  de  Roland (คริสต์ศตวรรษที่ 11) เป็นเรื่องการต่อสู้ของโรลองด์ ขุนศึกของพระเจ้า  ชาร์เลอมาญกับกองทัพมุสลิมจากสเปนที่มุ่งมาพิชิตยุโรปตะวันตก กองทัพของโรลองด์ถูกซุ่มโจมตีในเทือกเขา พีเรนีส  ทำให้เขาเสียชีวิตในที่รบ  มหากาพย์เรื่องนี้มีเนื้อหาตื่นเต้นเป็นที่นิยมในชนชั้นสูงและนักรบ เพราะสะท้อนให้เห็นความกล้าหาญ อุดมการณ์  จริยธรรม ความเสียสละและศรัทธาในศาสนาคริสต์
นิยายเพ้อฝัน (Romance)  แต่งเป็นโคลงเช่นเดียวกับมีทั้งโคลงทั้งแบบสั้นและยาว  แต่งครั้งแรกในยุโรปใต้เมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 11-12  ต่อมาแพร่หลายในฝรั่งเศส อังกฤษและเยอรมนี
นิยายเพ้อฝันมักเป็นความรักเกี่ยวกับหนุ่มสาว  ความจงรักภักดีของ Vassal ที่มีต่อLord  เวทมนต์คาถา และเรื่องลี้ลับมหัศจรรย์ซึ่งจินตนาการจากเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์  นิยายเพ้อฝันที่นิยมกันมากคือเรื่องเกี่ยวกับสงครามโทรจันสมัยกรีก เรื่องพระเจ้าอเล็กซานเดอร์   มหาราช  และเรื่องกษัตริย์อาร์เธอร์แห่งอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 6
วรรณกรรมชาซองต่างจากวรรณกรรมเพ้อฝันคือ เป็นเรื่องของวีรบุรุษ ที่อุทิศชีวิตเพื่อรักษาคุณธรรมและเกียรติภูมิของชาติ แต่วรรณกรรมเพ้อฝันเป็นเรื่องความรักของหนุ่มสาวที่ ทุกอย่างเพื่อให้ความรักสมปรารถนาเช่น Tristan and Isault  กล่าวถึงความรักผิดศีลธรรม ระหว่างนายทหารของกษัตริย์องค์หนึ่งที่หลงรักมเหสีของกษัตริย์ หรือเรื่อง King  Arther ซึ่งก็กล่าวถึงการที่ Lancelot เป็นชู้กับมเหสีของพระเจ้าอาร์เธอร์เช่นกัน  นิยายเพ้อฝันมักจบลง  ด้วยความหายนะของชู้รัก แต่สะท้อนให้เห็นอานุภาพของความรัก
โคลงรักหรือบทเพลง (Lyric)  เกิดในฝรั่งเศสตอนใต้กลางคริสต์ศตวรรษที่ 12โดยนักร้องเพลงเร่ที่เรียกตัวเองว่า Troubadour  ซึ่งแต่งบทกวีขับร้องกับพิณ
ผู้ประพันธ์บทเพลงอาจเป็นชนชั้นสูง เช่น ดยุค วิลเลียมที่ 9 แห่งอะควาแทน            บทเพลงหรือโคลงรักมักนิยมบรรเลงในปราสาทของขุนนางและราชสำนัก  เนื้อมักเป็นเป็นเรื่องความรัก ที่ได้รับอิทธิพลมาจากราชสำนักมุสลิม  ทำให้เกิดธรรมเนียมของอัศวินสมัยกลางเรียกว่าThe  Idea  of Chivalry  คือการแสวงหาความรักเทิดทูนบูชาต่อสตรีสูงศักดิ์  ถือเป็นการอุทิศตนเพื่อความรักโดยไม่ปรารถนาความรักตอบแทน  เพื่อให้ชีวิตการเป็นอัศวินมีคุณค่าและมีเกียรติยศ
นิยายล้อเลียนสังคม (Fabliaux) และนิทานสัตว์ (Fables) ขณะที่มหากาพย์  นิยายรักเพ้อฝัน  โคลงรักหรือบทเพลงเป็นวรรณกรรมของคนชั้นสูง  นิยายล้อเลียนสังคมและนิยายสัตว์เป็นวรรณกรรมของชาวเมือง
นิยายล้อเลียนสังคมเป็นนิยายสั้นๆ เขียนเป็นโคลงกลอน เสียดสีชนชั้นสูง ตลกขบขัน เล่ห์เหลี่ยม ความไม่ดีงาม หรือความหยาบคาย เช่น การคบชู้ของภรรยาคหบดี ความเจ้าเล่ห์ของพระ เป็นต้น  นิยายเสียดสีสังคมที่ชื่อเสียงได้แก่ Canterbery’s Tales  ของ Chance กวีเอกชาวอังกฤษ  เป็นเรื่องของการเดินทางจาริกแสวงบุญ 24 เรื่องที่เล่าสู่กันฟังระหว่างเดินทางยังหลุมฝังศพของโทมัส  แบ็คเก็ตในแคว้นแคนเทอร์เบอร์รี  สะท้อนให้เห็นบุคลิกภาพต่างๆของสามัญชน
ส่วนนิทานสัตว์ในสมัยกลางมักเล่ากันในรูปของนิทานอีสป  ส่วนใหญ่จะเล่าเกี่ยวกับสุนัขจิ้งจอกชื่อรีนาร์ด (Renard  the  Fox หรือ Romance  of  Renard) ล้อเลียนวรรณกรรมชนชั้นสูงและความสัมพันธ์ระหว่างลอร์ดและ Vassal  (อนันต์ชัย 2529, 56-57)

การเสื่อมอำนาจของศาสนจักร
ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13  ศาสนจักรมีอำนาจสูงสุด พระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 (Innocent  III, ค.ศ.1198-1216) ทรงมีฐานะเป็นประมุขทั้งทางโลกและทางธรรมจากการที่ทรงใช้อำนาจครอบงำเหนืออาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ทั้งกษัตริย์และขุนนางในยุโรปตะวันตกต่างก็เชื่อฟังพระองค์
พระสันตปาปาองค์ต่อๆมาเริ่มอ่อนแอและมักใช้มาตรการขับไล่คริสต์ศาสนิกชนออกจากศาสนาและชุมชนคริสต์อย่างพร่ำเพรื่อ จนกระทั่งไม่เป็นที่เกรงกลัว  ยิ่งกว่านั้นการเข้ายุ่งเกี่ยวกับทางโลกมากเกินไปทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาและหันไปสนับสนุนอำนาจของกษัตริย์แทน




ชาวยุโรปสมัยกลางตอนปลาย (คริสต์ศตวรรษที่ 14-15)จึงไม่เพียงจะแลเห็นว่าตนเป็นคริสต์ศาสนิกชนเท่านั้น  แต่ยังมีความรู้สึกชาตินิยมด้วย  ด้วยเหตุนี้จึงมักเข้าข้างกษัตริย์ในการต่อสู้อำนาจของพระสันตปาปาเสมอ  ดังเช่นเมื่อเกิดปัญหาว่า  ใครจะเป็นผู้แต่งตั้งฐานันดรศักดิ์ของพระราชาระหว่างพระสันตปาปากับกษัตริย์ 
นอกจากนี้ก็มีปัญหาเรื่องการตัดสินคดีและการซื้อขายตำแหน่งพระราชาคณะ นำไปสู่ความแตกแยกระหว่างกษัตริย์กับพระสันตปาปา  ดังนั้นในปีค..1305 กษัตริย์ฝรั่งเศสองค์หนึ่งคือพระเจ้าฟิลิป (King Philip 1285-1314 AD.) จึงส่งกองทัพไปจับกุมพระสันตะปาปาบอนนิเนส ที่ 8  จึงสิ้นสุดยุคแห่งการเรืองอำนาจของพระสันตะปาปา
หลังจากนั้นฝรั่งเศสพยายามใช้อิทธิพลทางการเมืองสนับสนุนพระราชาคณะชาวฝรั่งเศสขึ้นเป็นพระสันตปาปาและได้ย้ายสำนักพระสันตปาปาไปยังเมืองอาวิยอง บนริมฝั่งแม่น้ำโรน  เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกเรียกเปรียบเทียบว่า The Babylonian Captivity  ถือเป็นการทำลายเกียรติภูมิของพระสันตปาปาให้ต่ำลง  ตำแหน่งพระสันตปาปากลายเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่ฝรั่งเศสพยายามตักตวงผลประโยชน์  ทำให้อังกฤษและอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไม่พอใจ
ในปีค..1378 พระสันตปาปาเกรกอรีที่2ทรงย้ายสำนักพระสันตปาปากลับกรุงโรม  หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ได้มีการเลือกตั้งพระสันตปาปาองค์ใหม่ขึ้น  ปรากฏว่าพระสันตปาปาองค์ใหม่ทรงเป็นชาวอิตาลี  ทำให้พระคาร์ดินัลชาวฝรั่งเศสไม่พอใจ  และเลือกพระสันตปาปาชาวฝรั่งเศสขึ้นมาอีกองค์หนึ่งประทับที่เมืองอาวิยองและต่างก็ประกาศขับไล่ทางสังคมซึ่งกันและกัน  ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย  แตกแยกครั้งใหญ่ทางศาสนาเรียกว่าThe  Great  Schism
ตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 พระสันตปาปาทั้งสองสำนักต่างพยายามจะปรองดองกันที่เมืองปิซา  แต่ไม่มีใครยอมลาออกจากตำแหน่ง  จึงมีการตั้งพระสันตปาปาขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง  ทำให้ต้องประชุมกันอีกครั้งที่เมืองคอนสแตนติโนเปิลระหว่างค..1415-1418 มีจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เป็นประธาน ความแตกแยกจึงยุติลงเมื่อพระสันตปาปาทั้งสามองค์ยอมลาออกพร้อมกัน  และมีการเลือกพระสันตะปาปามาร์ตินที่ 5 ขึ้นครองตำแหน่งแต่เพียงผู้เดียว
การแตกแยกทางศาสนาเป็นเหตุให้ศาสนจักรเสื่อมอำนาจและศรัทธา สังคมยุโรปจึงเปิดโอกาสให้พวกนอกรีต  แม่มด  หมอผีเข้ามีบทบาทต่อชีวิตชาวเมือง สังคมยุโรปจึงเน่าเฟะ             จึงเป็นที่มาของการปฏิรูปศาสนาคริสต์ในคริสต์ศตวรรษที่ 16
แบบฝึกหัดบทที่ 5
จงเติมคำลงในช่องว่าง

1. ยุคกลาง (The Middle Age) หมายถึงยุคซึ่งอยู่ ระหว่าง
 ____________________________
2. ศิลปะในสมัยยุคกลางตอนต้น (Early Middle Age Art) เรียกว่า
 ______________________
3. ยุคกลางตอนปลาย (Lately Middlle Age Art) เป็นยุคเสื่อมของ
  ______________________
4. ระบอบศักดินา (Feudalism) หมายถึง
 _________________________________________
     ____________________________________________________________________
5. ยุคกลางสิ้นสุดลงเมื่อ _______________________________________  ค้นพบทวีปอเมริกา
6. Beneficeในสมัยกลาง หมายถึง ______________________________________________
7. Lord หมายถึง __________________________________________________________
8. พวก Crofter and Cotters ในสมัยกลางหมายถึง
 __________________________________
9. อำนาจของชนเผ่าเยอรมันมาจาก
  _____________________________________________
10. ชาวคริสต์เชื่อว่ากรุงโรมเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพราะ
  _______________________________
11. วิหารพระเจ้าชาเลอมาญ (King Chalemagn) ตั้งอยู่ที่เมือง
  __________________________
12โบสถ์ All Saint Church ที่นอร์แธมตันไชร์ (Northamshire) ประเทศอังกฤษ เป็นโบสถ์แบบ ____________________________________________________________________
13. สถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์(Romanesque) มีลักษณะเด่นคือ
 _______________________
     ___________________________________________________________________
14. มหาวิหารดูแรห์ม (Dohram) มีลักษณะเด่นคือ
 __________________________________
     ___________________________________________________________________
15. จุดเด่นของสถาปัยกรรมกอธิก (Gothic)คือ 
___________________________________
     ___________________________________________________________________
16. ใครเป็นผู้เขียนวรรณกรรมเรื่อง The City of God _______________________________
     ___________________________________________________________________
 17. มหากาพย์เรื่อง Chanson de Roland สะท้อนให้เห็นคุณธรรมด้าน
 ___________________
     ___________________________________________________________________
18.นิยายเพ้อฝันสมัยกลางเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ______________________________________
     ___________________________________________________________________
19. The Idea of Chivalry หมายถึง 
____________________________________________
     ___________________________________________________________________
20. Canterberry Tales คือ
 __________________________________________________

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น