วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บทที่ 3 ศิลปวัฒนธรรมตะวันตกยุคกรีก-โรมัน


โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร
ศิลปวัฒนธรรมกรีก
การเข้ามาของชาวกรีก
พัฒนาการของชาวกรีกโบราณเริ่มต้นอย่างแท้จริงเมื่อประมาณ 1,200 ปี                  ก่อนคริสต์ศักราช ก่อนหน้านี้เป็นพัฒนาการของวัฒนธรรมยุคหินใหม่  ซึ่งเจ้าของวัฒนธรรม             เป็นกลุ่มชนป่าเถื่อนเผ่าอินโด-ยูโรเปียน ซึ่งอพยพจากยุโรปเหนือเข้ามายังคาบสมุทรกรีกและได้รับอารยธรรมไมนวนจากเกาะครีตเข้ามาผสมผสานเรียกว่า อารยธรรมไมซีเนบนคาบสมุทรกรีก
หลังจากการเข้ามาของชาวอินโด-ยูโรเปียนระลอกแรก (เผ่าอาเคียน-Achaens         เหมือนชาวเกาะครีต) ในยุคหินใหม่ก่อนระยะ1,200ปีก่อนคริสตศักราชแล้ว  ชาวอินโด-ยูโรเปียน (Indo-European)ระลอกที่สอง(นักรบเผ่าดอเรียน-Dorians) ได้อพยพเข้ามาเพิ่มอีกเมื่อประมาณหลัง1,200 ปี ก่อนคริสตศักราช เผ่าดอเรียนได้ปราบปรามเผ่าอาเคียนและสามารถปกครองคาบสมุทรกรีกได้หมด (ยกเว้นบริเวณเนินเขาอาคาเดีย Acadia  อันเป็นที่ตั้งของรัฐเอเธนส์ Athens และอะโครโปลิส Acropolis)  ทำให้ชาวอาเคียน  อพยพลี้ภัยไปอยู่แถบภูมิภาคตะวันตกของเอเชียไมเนอร์และเกาะต่างๆในทะเลอีเจียน (กอบเกื้อ, 2528, 22)
ต่อมาคนเผ่าอาเคียน  ได้ฟื้นฟูชุมชนขึ้นใหม่ผสมผสานกับพื้นเมืองเอเชียไมเนอร์  เรียกว่าชุมชนไอโอเนียน (Ionians) ภาษากรีกที่ใช้บันทึกในมหากาพย์อีเลียด (Iliad) และมหากาพย์โอดีสซี (Odyssey) ซึ่งเป็นเรื่องราวการผจญภัยของวีรบุรุษกรีกแต่งโดยโฮเมอร์ (Homer)            ในยุคมืดของอารยธรรมกรีก (1,120-800BC.)  ก็เป็นภาษาไอโอเนียนเช่นกัน ความเจริญของชาวไอโอเนียนในเอเธนส์และฝั่งตะวันตกของเอเชียไมเนอร์สามารถต้านทานการรุกรานของชาวดอเรียน  และทำให้เอเธนส์กลายเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมกรีกในเวลาต่อมา
การติดต่อระหว่างชาวดอเรียนและชาวไอโอเนียน (คือชาวอาเคียนและชาวเกาะ             ครีตเดิม) ผ่านวัฒนธรรมไอโอเนียนมีผลทำให้เกิดเผ่าพันธุ์ใหม่ เรียกว่าชาวกรีกโบราณหรือชาว            เฮเลน (Helenes) ซึ่งกลายเป็นชนชาติที่มีอำนาจสูงสุดในแถบแหลมบอลข่านและทะเลอีเจียน              และทำให้วัฒนธรรมอันละเอียดอ่อนของชาวไอโอเนียนพัฒนาเป็นอารยธรรมกรีกอันเป็นต้นกำเนิดของศิลปวัฒนธรรมตะวันตกในปัจจุบัน

พื้นฐานเริ่มแรกของอารยธรรมกรีก (2,000 BC-1,500 BC.)
พื้นฐานของอารยธรรมกรีกมีพัฒนาการเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตศักราช  หลักฐานระยะแรกมีลักษณะเลือนลางและเกี่ยวข้องกับเทพนิยายหรือนิทานปรัมปรา 
ผลการขุดค้นทางโบราณคดีของ Henrich  Schlieman และนักโบราณคดีอื่นๆ เมื่อทศวรรษ 1870s และทศวรรษ 1880s ที่เมืองทรอย (Troy) และเมืองไมซีเน (Mycenae) จากการอาศัยเพียงร่องรอยในมหากาพย์อีเลียดและมหากาพย์โอดีสซี ทำให้ทราบว่าอารยธรรมกรีกปรากฏครั้งแรกที่เกาะครีต (Crete) ในทะเลอีเจียนเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตศักราช เรียกว่า อารยธรรมไมนวน (Minoan  Civilization) มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองคนอสซุส (Knossus) พลเมืองคือชาวครีตัน (Creton) แห่งเผ่าอาเคียน (กอบเกื้อ, 2528, 21) จากยุโรปเหนือ ภูมิประเทศเกาะครีต มีปราการธรรมชาติทำให้รู้สึกปลอดภัยและเป็นมิตรกับคนแปลกหน้

ความเจริญของอารยธรรมไมนวน

อารยธรรมไมนวนของชาวครีตันมีความเจริญสูงสุดระหว่าง 1,800-1,500 ปี              ก่อนคริสตศักราช  เรียกว่า “ยุคพระราชวัง (The Palace Period)  ซึ่งหมายถึงพระราชวังคนอสซุส  ภายในพระราชวังประกอบด้วย  ห้องโถง  ห้องเก็บน้ำมันมะกอกและไวน์บรรจุในไหขนาดใหญ่            มีระบบน้ำประปาด้วย
อาชีพสำคัญของชาวครีตัน  คือ  เป็นพ่อค้าคนกลางค้าขายกับอียิปต์  เอเชียไมเนอร์  อนาโตเลีย ซีเรียและแอฟริกาเหนือ สินค้าสำคัญคือ ข้าวสาลี ไวน์ น้ำมันมะกอก แร่ดีบุก  ทองแดง  ทองเหลืองและเครื่องปั้นดินเผาหลากสี (Polychrome pottery)  เครื่องปั้นดินเผาหลากสีนี้ตกแต่งด้วยภาพต้นไม้  สัตว์บกและสัตว์น้ำ  เน้นความสวยงามละเอียดอ่อน
ชาวครีตันยกย่องสตรีและนับถือแม่ธรณีเป็นเทพเจ้าสูงสุด  ชาวครีตันมิได้เกรงกลัวเทพเจ้าดังเช่นชาวสุเมอเรียน  เทพเจ้าของพวกเขามีลักษณะเป็นมนุษย์มากกว่าและให้คุณมากกว่าโทษ  ทำให้ไม่นิยมสร้างวัด ไม่สนใจการบวชและไม่ใส่ใจอำนาจพระ
ชาวครีตันถูกชาวไมซีเนจากแผ่นดินใหญ่รุกรานและยึดครองเมื่อประมาณ 1,500 BC. ต่อมาชาวไมซีเนได้นำอารยธรรมไมนวนของชาวครีตันขึ้นไปเผยแพร่บนผืนแผ่นดินใหญ่ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองไมซีเน  กลายเป็นอารยธรรมไมซีเน






อารยธรรมไมซีเน (Mycenae Civilization)
สืบทอดต่อมาจากปี 1,500-1,120 BC. ลักษณะเป็นอารยธรรมของชุมชนที่กระจัดกระจายตามชายฝั่งของคาบสมุทรกรีกและเกาะต่างๆในทะเลอีเจียน  สภาพภูมิประเทศค่อนข้างตัดขาดจากกัน  ทำให้ไม่สะดวกในการติดต่อคมนาคม ชุมชนต่างๆจึงเป็นนครรัฐอิสระ และชุมชนมีป้อมปราการเป็นที่อยู่ของประมุข  พลเมืองจะสร้างบ้านเรือนรอบๆป้อมเมื่อเกิดสงคราม
ชาวไมซีเนเดินเรือค้าขายเก่งไม่แพ้ชาวครีตัน  เคยเดินทางไปค้าขายไกลถึงช่องแคบ   ยิบรอลตา  ทะเลดำและเปอร์เซีย  มีความสามารถทางด้านการรบ พิสูจน์ได้จากการยึดเมืองทรอยสำเร็จเมื่อปี 1,200 BC. ในสงครามทรอย (Trojan War) และสามารถขยายอิทธิพลไปทั่วฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียนด้วย
อาณาจักรไมซีเนได้ล่มสลายลงเมื่อปี 1,120 BC. จากการเผาผลาญของอนารยชนเผ่าดอเรียน (Dorians)  ซึ่งเป็นชาวกรีกกลุ่มหนึ่งส่งผลให้อารยธรรมซึ่งก่อตัวจากเกาะครีตแล้วขยายตัวมายังดินแดนชายฝั่งทะเลอีเจียนของประเทศกรีซปัจจุบันยุติลงชั่วคราว

ยุคมืดของอารยธรรมกรีก
ยุคมืดของอารยธรรมกรีกอยู่ในช่วงปี 1,120-800 BC. ในช่วงนี้ชาวกรีกส่วนใหญ่หันไปเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์  รวมทั้งต้องผลิตอาหารและทอผ้าใช้เอง  เนื่องจากการค้าตกไปอยู่ในมือของพ่อค้าชาวฟีนิเชียน  ชาวกรีกกลายเป็นคนไม่รู้หนังสือ เมื่ออารยธรรมกรีกฟื้นตัวอีกครั้ง           ในปี 800 BC. ชาวกรีกต้องยืมอักษรเฮียราติกของชาวฟีนิเชียนมาใช้ ในยุคมืดของอารยธรรมกรีกนี้มีการแต่งมหากาพย์สำคัญสองเรื่อง คือ มหากาพย์อีเลียดและมหากาพย์โอดีสซี

การฟื้นตัวของอารยธรรมกรีกในยุคคลาสสิก (The Classic Age)
ยุคคลาสสิกของอารยธรรมกรีกเกิดขึ้นในช่วงหลัง 800-500 BC. ยุคนี้การปกครองของอารยธรรมกรีกมีลักษณะเป็นแบบนครรัฐอิสระเรียกว่า “Polis” บางโพลิสปกครองด้วยระบบกษัตริย์บางโพลิสปกครองแบบคณาธิปไตย
  ในช่วง 700 BC. กษัตริย์ต้องสูญเสียอำนาจด้านการเมืองและการปกครองแก่           ขุนนาง แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก นครรัฐต่างๆได้เปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยให้สิทธิ์การเลือกตั้งและสิทธิ์การดำรงตำแหน่งผู้ปกครองแก่พลเมืองชายที่บรรลุนิติภาวะ                 ส่วนพลเมืองหญิง ทาสและคนต่างด้าวไม่มีสิทธิทางการเมืองและการปกครอง อันเป็นมรดกส่วนหนึ่งของพัฒนาการแห่งระบอบประชาธิปไตยในโลกตะวันตกปัจจุบัน

ศูนย์กลางของอารยธรรมกรีกในยุคคลาสสิก                    

เอเธนส์ (Athens) กลายเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมกรีกเมื่อ 500 BC. ทำให้มีความเจริญทางด้านปรัชญา อักษรศาสตร์ ศิลปะ การแพทย์ ดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์อย่างรวดเร็ว

สงครามระหว่างกรีกกับเปอร์เซียระหว่างปีที่ 492-470 BC.ทำให้นครรัฐเอเธนส์              มีความร่ำรวยและมีความเจริญสูงสุด กลายเป็นผู้นำของนครรัฐอื่นรอบๆทะเลอีเจียน เรียกว่า ยุคทองแห่งนครรัฐเอเธนส์

สงครามเพลโลโพนีเชียน (Pelloponesian  War,430-404 BC.)
สงครามเพโลโพเนเชียนเกิดจากการที่นครรัฐสปาร์ตาซึ่งเป็นรัฐทหารไม่พอใจต่อความรุ่งเรืองของนครรัฐเอเธนส์  จึงร่วมมือกับรัฐใหญ่น้อยเข้าโจมตีนครรัฐเอเธนส์เพื่อชิงความเป็นผู้นำของนครรัฐต่างๆ  ผลที่ตามมาคือความหายนะของนครรัฐกรีกทั้งหมด

ยุคเฮเลนิสติก (Helenistic):  การมีอำนาจของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์แห่งรัฐมาซิโดเนียก่อนนครรัฐกรีกเสื่อม
ความอ่อนแอของนครรัฐกรีก  เกิดจากการสงครามเพโลโพเนเชียนเพื่อแย่งชิงอำนาจกันเป็นผู้นำระหว่างนครรัฐเอเธนส์และนครรัฐสปาร์ตา  เปิดโอกาสให้รัฐเล็กอย่างนครรัฐมาซิโดเนีย (Macedonia) ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ (Alexander the Great, 336-323 BC.) ก้าวขึ้นมามีอำนาจเหนือนครรัฐทั้งหมด  เรียกว่ายุคเฮเลนิสติก ยุคนี้กรีกสามารถขยายดินแดนครอบคลุมเอเชียไมเนอร์  เปอร์เซีย อียิปต์และอินเดียในยุคนี้ศิลปวัฒนธรรมของกรีกได้แพร่หลายทั่วไปอย่างกว้างขวาง มีการสร้างเมืองศูนย์การค้าและศิลปวัฒนธรรมกรีกขึ้นที่เมืองอเลกซานเดรีย(Alexandria)ในอาณาจักรอียิปต์ด้วย

การสิ้นสุดความสำคัญของนครรัฐกรีก

เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์ในปี 323 BC. ได้ส่งผลให้จักรวรรดิกรีก           ถูกแบ่งแยกเป็นส่วนๆให้แก่แม่ทัพสำคัญปกครอง อาทิ อิยิปต์ ตกเป็นของปโตเลมี (Ptolemy)    ดินแดนส่วนใหญ่ของเปอร์เซียและอาณานิคมเป็นของเซอลิวคัส (Seleucus)  และมาซิโดเนียเป็นของแอนติโกนุส (Antegonus)





มรดกด้านศิลปวัฒนธรรมของกรีก
ชาวกรีกได้รับการยกย่องว่าเป็นแม่แบบของความเจริญนานัปการของอารยธรรมตะวันตก อาทิ เรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย ศิลปวัฒนธรรมและวิทยาการด้านต่างๆ
ตลอดยุคมืดของอารยธรรมกรีกหลังจากอาณาจักรไมซิเนถูกทำลายเมื่อ 1,120-800 BC. ชาวกรีกได้สูญเสียความเชี่ยวชาญทุกด้านอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นงานด้านสถาปัตยกรรม  จิตรกรรมฝาผนัง  งานโลหะ  การทำเครื่องทองรูปพรรณ และด้านอักษรศาสตร์
หลัง 800 BC.  ความเจริญของกรีกได้เริ่มต้นขึ้นมาอีกครั้งโดยปรับปรุงวิวัฒนาการมาจากอิทธิพลของอารยธรรมซีเรียและอียิปต์  แต่วิวัฒนาการดังกล่าวมีลักษณะแบบมนุษยนิยมและธรรมชาตินิยม  มรดกที่เป็นของอารยธรรมกรีกมีดังนี้

สถาปัตยกรรมกรีก
กรีกยุคใหม่มีการปกครองแบบนครรัฐ  สถาปัตยกรรมจึงเป็นวิหารขนาดใหญ่สำหรับเทพเจ้า  มิใช่พระราชวังหรูหราเช่นอารยธรรมไมนวน เทพเจ้าของชาวกรีกกับธรรมชาติมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด  ชาวกรีกเชื่อว่าธรรมชาติมีอำนาจลึบลับที่ให้คุณให้โทษได้ อำนาจดังกล่าวเกิดจากพลังของเทพเจ้า ชาวกรีกนิยมสร้างวิหารบนเนินดินหรือภูเขาเล็กๆ เรียกว่า             อะโครโพลิส (Acropolis)   วิหารสำคัญคือวิหารพาร์เธนอน (Parthenon) สำหรับประดิษฐานรูปเคารพของเทพีอะเธนา  สร้างเมื่อ 500BC. ลักษณะเป็นอาคารหินอ่อน  หลังคาทรงจั่ว  มีเสาหินเรียงราย  ได้รับการยกย่องว่ามีความสมดุล งดงาม ส่งอิทธิพลทางศิลปะมาถึงปัจจุบัน


วิหารพาร์เธนอน  แห่งเอเธนส์  สร้างถวายเทพีอะธีนา 447-443 BC. ลักษณะเด่นคือด้านนอกใช้เสาแบบดอริก  ด้านในใช้เสาแบบไอโอนิก (Edward  Lucie-Smith,  1992, 48

ภาพสลักหินที่ผนังใต้ชายคาของวิหารพาร์ธีนอน (Edward Lucie-Smith, 1992, 59)



วิหารอะธีนา  นิกิที่อะโครโพลิสแห่งเมืองเอเธนส์  427-424 BC. (Edward  Lucie-Smith,  1992, 56)

            

รูปแรก   เป็นหัวเสาของสถาปัตยกรรมแบบดอริก (480-330 BC.)  เป็นแบบเก่าและแพร่หลายมากที่สุดส่วนล่างเป็นเสาขนาดใหญ่เรียวขึ้นเล็กน้อยมีแผ่นหินปิดทับข้างบน  เน้นความงามแบบเรียบง่ายแต่มั่นคง
รูปที่สอง เป็นหัวเสาแบบไอโอนิก ใช้ร่วมสมัยกับแบบแรกแผ่นหินด้านบนเปลี่ยนรูปแบบจากเรียบง่ายเป็นม้วนย้อยลงมาสองข้าง
รูปที่สาม เป็นหัวเสาแบบ โครินเธียน  นิยมมากในสมัยเฮเลนิสติกและยุคโรมันหลัง 400 BC. ดัดแปลงจากหัวเสาแบบไอโอนิก หัวเสาทำเป็นรูปใบไม้ (Edward Lucie-Smith, 1992, 55)

 

ความเชื่อของชาวกรีก

ชาวกรีกเชื่อในเทพเจ้าหลายองค์เช่นเดียวกับชนชาติเก่าแก่อื่นๆ  แต่เทพเจ้ากรีกมีอารมณ์ความรู้สึกเช่นเดียวกับมนุษย์  พวกเขาเชื่อว่าเทพเจ้าทั้งหมดประทับอยู่บนยอดเขาโอลิมปัส(Olympus) มีเทพเจ้าซูสหรือเซอุส (Zeus) เป็นประมุข ส่วนเทพเจ้าอื่นๆได้แก่ เทพีเฮร่า              เทพอะพอลโล และเทพเฮอราคิวลิส  เป็นต้น
เมื่อจักรวรรดิโรมันมีอำนาจเหนือนครรัฐกรีก  ชาวโรมันได้ยอมรับเอาเทพเจ้าเหล่านี้ไปด้วย  แต่เปลี่ยนชื่อใหม่คือ ซูส (Zues) เป็นจูปิเตอร์ (Jupeter)   เฮร่า (Hera) เป็นจูโน (Jono) อะพอลโลเป็น โพบุส (Pobus) และเฮอราคิวลีส (Heracules) เป็นเฮอร์คิวลิส Hercules) เป็นต้น                       

ประติมากรรมกรีก

ประติมากรรมกรีกมักสะท้อนปรัชญาธรรมชาตินิยม  รูปเคารพของกรีกจะมีลักษณะเป็นมนุษย์ที่แสดงอารมณ์และท่าทางเคลื่อนไหวเหมือนจริง
ระยะแรก  งานประติมากรรมจะใบหน้าตรงและแข็งทื่อ เนื่องจากได้รับอิทธิพลของศิลปะอียิปต์  
สมัยคลาสสิก  ช่างสามารถสร้างประติมากรรมได้อย่างถูกต้องตามหลักกายวิภาคศาสตร์ อาทิ กล้ามเนื้อและริ้วผ้า ลักษณะเด่นของงานประติมากรรมสมัยนี้คือ ช่างนิยมทำประติมากรรมรูปชายเปลือยกาย 
สมัยเฮเลนิสติก รสนิยมทางศิลปะของกรีกได้เปลี่ยนไปในสมัยเฮเลนิสติก             (หลัง 400 BC.) คืองานศิลปะมีลักษณะเหมือนจริง ไม่งดงามแบบเพ้อฝันอีกต่อไป                      โดยประติมากรรมของกรีกยุคหลังนี้จะแสดงออกให้เห็นความเจ็บปวด  ความชราและความเป็นไปอย่างแท้จริงแทนความงามแบบเหนือจริง




เทพอะพอลโล  จากหน้าจั่วด้านตะวันตกของวิหารเทพเซอุส  บนเขาโอลิมปัส 468-460 BC. (Edward  Lucie-Smith,  1992, 59)



ประติมากรรมหินอ่อนรูปเทพีอะโพรไดตี้ (Cnidian  Aprodite) สมัยเฮเลนิสติก              อาจจำลองมาจากต้นแบบประติมากรรมสำริดซึ่งทำขึ้นโดยช่างคนสำคัญชื่อ Praxiteles ในช่วง 400 BC. ประติมากรรมนี้ชี้ให้เห็นถึงการหันมาสลักรูปเปลือยของผู้หญิงแทนรูปผู้ชายเปลือย (Edward  Lucie-Smith,  1992, 60)




ภาพสลักนูนที่ The Siphnian of Treasury แห่งเดลฟี รูปเทพเจ้าแห่งสงครามสู้กับยักษ์ 525 BC. (Edward Lucie-Smith, 1992, 56-57)


ประติมากรรมชื่อ Hermes and Dionisius 340 BC. สูง 21 cms. สร้างโดยPraxiteles ประติมากรรมนี้เป็นรูปจำลองซึ่งอาจทำขึ้นหลังสมัยเฮเลนิสติก  และถูกกล่าวถึงในบันทึกของนักเดินทางชาวโรมัน ลักษณะเด่นคือ สูงเพรียว ใบหน้าเศร้าซึมไม่องอาจฮึกเหิมเหมือนบุรุษเพศ  ผมของประติมากรรมบรรจงแกะอย่างงดงามภายใต้อิทธิพลของศิลปะเฮเลนิสติก(Edward Lucie-Smith,  1992, 60)


ประติมากรรมนูนรูปยักษ์ที่เลื้อยเหมือนงูจากแท่นบูชาที่วิหารเทพซีอุส 180 BC. (Edward Lucie-Smith, 1992, 61)

จิตรกรรมของกรีก
สมัยแรก  เป็นงานจิตรกรรมบนภาชนะดินเผา เช่น ไหเหล้า โถเหล้า แก้วเหล้า  พัฒนามาจากลายเรขาคณิตของอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ภาพที่นิยมวาดคือรูปสัตว์ ต่อมาพัฒนาเป็นรูปคน ภาพจิตรกรรมมักใช้สีแดงเป็นพื้นหลัง (Back ground) ส่วนรูปคนทำเป็นสีดำ
สมัยคลาสสิก นิยมวาดสีพื้นตัดกับภาพในฉาก  และพัฒนาเป็นรูปเครือเถา รูปเล่าเรื่องในนิทานปรัมปรา (methology)  และมหากาพย์ของโฮเมอร์อย่างกลมกลืนงดงาม

สมัยหลัง  (สมัยเฮเลนิสติกนิยมวาดภาพบนแผ่นกระเบื้องหรือหินสีประดับบนผนังขนาดใหญ่  เรียกว่าศิลปะการวาดภาพแบบโมเซอิก (Mosaic)  ซึ่งได้รับความนิยมสืบต่อมายังจักรวรรดิโรมัน  จักรวรรดิไบแซนไทน์และปัจจุบัน



 
ภาพโมเซอิกคนล่าสิงโต  พบที่มาซิโดเนีย  400-300 BC.ลักษณะเรียบง่าย (Edward Lucie-Smith, 1992, 62)





ชามดินเผาแบบ Black Figure cแสดงภาพด้วยสีขาวและดำบนพื้นแดงในภาพเขียนเป็นรูปเทพเจ้าไดโอนิซิอุสประทับบนเรือใบที่กำลังแล่นแวดล้อมด้วยฝูงปลาวาฬ เสากระโดงเรือ        มีเถาองุ่นพัน ก่อน 530 BC. ลักษณะกายภาพของบุคคลยังไม่ชัดเจน (Edward Lucie-Smith,  1992, 63)

การละครของกรีก
การแสดงละครของกรีกมีความ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  เริ่มถือกำเนิดขึ้นจากพิธีการบวงสรวงและเฉลิมฉลองเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ไดโอนิซุส (Dionysus)  การแสดงละครนี้แพร่หลายมากในสมัยคลาสสิก แล้วพัฒนามาเป็นละครแบบโศกนาฏกรรม (Tragedy) และสุขนาฏกรรม (Comedy) โดยใช้ตัวละครชายทั้งหมดสวมหน้ากาก ใช้ผู้พากย์และนักร้องหมู่ แสดงในโรงละครกลางแบบอัฒจันทร์ขนาดใหญ่สามารถจุผู้ชมได้ 10,000-20,000 คน

วรรณกรรมกรีก 
วรรณกรรมของกรีกชิ้นสำคัญซึ่งได้รับการยกย่องในแง่ของการวางโครงเรื่อง ความไพเราะของคำประพันธ์  ความยิ่งใหญ่ของจินตนาการ  ความสมจริงของตัวละครและการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกอย่างมีศิลปะและเป็นอมตะ คือ มหากาพย์อีเลียดและมหากาพย์โอดีสซีของ                  โฮเมอร์ ปรัชญานิพนธ์ของโสเครตีส เพลโตและอริสโตเติล และผลงานหลายชิ้นของ                  นักประวัติศาสตร์ อาทิ  เฮโรโดตัสและธูซิดิดีสก็ได้รับการยกย่องเช่นกัน

นักปรัชญาสำคัญของกรีก
โสเครตีส  (Socrates, 460-399 BC.) ชาวเอเธนส์  ชอบตั้งคำถาม  ถกเถียงอภิปราย  เขาเชื่อว่า  ปัญญาคือ อำนาจที่จะพามนุษย์เข้าสู่สัจจะ  การแสวงหาความจริงคือการค้นหาสัจจธรรมและคุณธรรมว่า  ผิดถูกเป็นอย่างไร  เพื่อยึดถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิต โสเครตีสเป็นนักปรัชญาที่ไม่มีผลงานเขียนโดดเด่นเป็นชิ้นเป็นอัน  แต่ความคิดของเขาได้กระตุ้นให้เกิดการแสวงหาความรู้ทางปรัชญาอย่างกว้างขวาง
เพลโต (Plato, 429-347 BC.)   เป็นศิษย์ของโสเครตีส  เขาเป็นผู้ก่อตั้งสำนักวิชาการ(Academy  School)ขึ้นที่กรุงเอเธนส์  เพลโตเชื่อว่า  มนุษย์ประกอบด้วยร่างกายและวิญญาณ  วิญญาณสำคัญกว่าร่างกาย วิญญาณประกอบด้วย ตัณหา อารมณ์และเหตุผล หากรวมกันอย่างกลมกลืนจะเกิดความเที่ยงธรรมขึ้นในจิตใจ โดยมีปัญญาเป็นเครื่องชี้นำชีวิต
อริสโตเติล (Aristotle, 384-322 BC.)   เป็นศิษย์ของเพลโต  เขาเชื่อว่าปัญญานำมาซึ่งความรู้  และความรู้นำมาซึ่งความสุขสบาย ถ้าปราศจากความสุขสบายมนุษย์จะไม่เกิดปัญญา  ความคิดของเขาต่างจากโสเครตีสและเพลโต ซึ่งเชื่อว่าความสุขเป็นสิ่งขัดขวางการใช้ปัญญาของมนุษย์
เฮโรโดตัส (Herodotus, 484-425 BC.)  ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาประวัติศาสตร์โลก ผลงานสำคัญของเขาคือ สงครามเปอร์เซีย ซึ่งบันทึกการรบระหว่างกรีกกับเปอร์เซีย เขาใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ในการเรียบเรียงงานนิพนธ์คือ ค้นคว้าเอกสารและสอบถามผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์  ถือเป็นการเริ่มต้นของวิชาประวัติศาสตร์ที่มิใช่การบอกเล่าแบบนิทานแบบเทพปกรณัมอีกต่อไป
ธูซิดิดีส (Thucydedes, 460-400 BC.) มีผลงานชิ้นสำคัญ คือประวัติศาสตร์สงครามเพโลโพนิเชียน  ซึ่งเป็นการรบระหว่างนครรัฐเอเธนส์กับนครรัฐสปาร์ตา ผลงานชิ้นนี้มีการเรียบเรียงค้นคว้าและวิเคราะห์ปัจจัยผลักดันที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ด้วย

 

ศิลปวัฒนธรรมโรมัน

จากหลักฐานในตำนาน เชื่อกันว่ากรุงโรมสถาปนาขึ้นเมื่อ 753 ปี ก่อนคริสตศักราช             บนเนินเขา 7 ลูกโดยพี่น้องฝาแฝด 2 คนชื่อ Romulus และ Remus ตำนานกล่าวว่าพี่น้องสองคนนี้เติบโตจากน้ำนมและการเลี้ยงดูของสุนัขป่า (อนันต์ชัย2529, 30)





ชาวอีทรัสกันตั้งชุมชนบริเวณที่ตั้งของกรุงโรมก่อนชาวละติน
หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีระบุว่า  บริเวณกรุงโรมเป็นที่ตั้งชุมชนของชาวอีทรัสกัน (Etruscan)  ชาวอีทรัสกันไดัรับอารยธรรมของกรีกและเอเชียไมเนอร์ตั้งแต่ 800 BC. ถิ่นฐานเดิมของชาวอีทรัสกันอยู่ที่เอเชียไมเนอร์
เมื่อชาวอีทรัสกันอพยพเข้ามายังคาบสมุทรอิตาลีแล้ว  พวกเขาได้นำอารยธรรมของชาวกรีกเข้ามาด้วย ได้แก่ ความเชื่อทางศาสนา ศิลปะการแกะสลัก การทำเครื่องปั้นดินเผา อักษรกรีก  ทองแดง  สำริด  การปกครองแบบนครรัฐ  การวางผังเมือง  การสร้างอาวุธ  ตลอดจนวิธีการทำนายโชคชะตาจากตับสัตว์หรือตับนกที่ผ่านพิธีกรรมตามความเชื่อแล้ว

 

ชาวอีทรัสกันปกครองด้วยระบบกษัตริย์

ชาวอีทรัสกันมีการปกครองแบบกษัตริย์  คนกลุ่มนี้มีอิทธิพลเหนือพื้นที่บริเวณตอนใต้อิตาลีถึงเทือกเขาแอพเพนไนน์ (Appenine)  และจากอ่าวเนเปิลถึงเมืองเยนัวร์ คนเผ่าอื่นที่อพยพเข้ามาในคาบสมุทรอิตาลีคือ  ชาวละติน อาศัยอยู่บริเวณละติอุม (Latium) ทางใต้ของแม่น้ำไทเบอร์  ชาวละตินมีอาชีพเลี้ยงสัตว์และปลูกข้าว (อนันต์ชัย, 2529, 30)

 

ชาวละตินขับไล่กษัตริย์ชาวอีทรัสกันแล้วปกครองแบบสาธารณรัฐ

ในปี 509 ก่อนคริสตศักราช  ชาวละตินได้ขับไล่กษัตริย์ของชาวอีทรัสกันออกไปแล้วตั้งการปกครองแบบสาธารณรัฐขึ้น  อำนาจการปกครองสาธารณรัฐโรมันอยู่ในมือของชนชั้นสูงคือพวกแพทริเชียน (Patricians)  ส่วนสามัญชน (Plebians)นั้น ไม่มีสิทธิทางการปกครอง

 

ความขัดแย้งระหว่างพวกแพทริเชียนและพวกเพลเบียน: การเกิดสภาตรีบูร

ความขัดแย้งระหว่างพวกแพทริเชียนและเพลเบียนได้นำมาสู่การต่อสู้ระหว่างชนชั้นและการจัดตั้งสภาตรีบูร (Tribune)  เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพวกเพลเบียน

 

กฎหมายสิบสองโต๊ะกับชัยชนะของพวกเพลเบียน

ในปี 450 ก่อนคริสตศักราชพวกเพลเบียนได้รับชัยชนะทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ทำให้มีสถานภาพทางการเมืองเท่าเทียมกับพวกแพทริเชียน และฝ่ายปกครองต้องยอมออกประมวลกฎหมายฉบับแรกของโรม  เรียกว่ากฎหมายสิบสองโต๊ะ (The Twelve Table) บังคับให้ชาวโรมันทุกชนชั้นอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายและสังคมเดียวกัน  กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นแม่บทของกฎหมายโลกตะวันตก

สงครามพูนิกกับการขยายอิทธิพลของชาวโรมัน

ระหว่าง 264-146 ปีก่อนคริสตศักราช เกิดสงครามพูนิก (Punic War) ระหว่างอาณาจักรโรมันกับอาณาจักรคาร์เทจ (Cartage) แห่งแอฟริกาเหนือ  เมื่อโรมชนะทำให้มีอำนาจเหนือทะเลเมดิเตอเรเนียน  สามารถผูกขาดการค้าระหว่างยุโรปตะวันออก  ยุโรปตะวันตกและเอเชียไมเนอร์  จนมั่งคั่งสามารถขยายดินแดนออกไปได้กว้างใหญ่

การเปลี่ยนการปกครองของอาณาจักรโรมันจากระบอบสาธารณรัฐเป็นระบอบกษัตริย์
ระหว่างปี 133-130 ก่อนคริสตศักราช  ชนชั้นปกครองและฝ่ายทหารได้แย่งชิงอำนาจกันเอง แม้จะมีความพยายามในการปฏิรูปทางด้านการเมืองและสังคมก็ตาม
ปีที่ 31 ก่อนคริสตศักราช ออกเทเวียน (Octavian) แม่ทัพสำคัญหลานชายของจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) มีอำนาจทางทหาร ส่งผลให้เขาสามารถปราบมาร์ก แอนโธนี (Mark  Anthony) คู่แข่งคนสำคัญทางการเมืองซึ่งปกครองอียิปต์ร่วมกับพระนางคลีโอพัตรา (Cleopatra)  ในปีที่ 27 ก่อนคริสศักราช  ทำให้โรมเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสาธารณรัฐเป็นระบอบจักรวรรดิแทน 
ออกเทเวียนทรงเป็นจักรพรรดิองค์แรก  มีสมญานามว่าออกัสตัส (Augustus)  ส่งผลให้มีการขยายดินแดนและอารยธรรมออกไปอย่างกว้างขวาง  มีการสร้างถนนจำนวนมากเพื่อใช้ในการลำเลียงทหารและสินค้าไปยังอาณานิคม (อนันต์ชัย2529, 30-31)

 

ยุคทองของอาณาจักรโรมัน

ยุคทองของจักรวรรดิโรมันอยู่ในช่วงค..96-180 จักรวรรดิโรมันปกครองโดยจักรพรรดิที่ดีห้าพระองค์1 แต่หลังจากนั้นก็ต้องเผชิญกับปัญหาสังคม ปัญหาการชิงบัลลังก์               การฉ้อราษฎร์  การเอารัดเอาเปรียบของขุนนาง  และการรุกรานของอนารยชนเผ่าเยอรมัน

การปล้นสะดมของอนารยชนเผ่าเยอรมัน: การสิ้นสุดของจักรวรรดิโรมันตะวันตก

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 จักรวรรดิโรมันตะวันตกอ่อนแอลงตามลำดับ เมื่อโรมถูก อนารยชนเยอรมันปล้นสะดมหลายครั้ง  ในปีค..476 โรมิวลุส ออกัสติลุส (Romulus Augustilus) จักรพรรดิองค์สุดท้ายก็ถูกชาวเยอรมันขับออกจากบัลลังก์  เป็นการสิ้นสุดของจักรวรรดิโรมันตะวันตกและประวัติศาสตร์สมัยโบราณ ส่วนจักรวรรดิโรมันตะวันออกแห่งกรุงคอนสแตนติโนเปิลยังคงมีจักรพรรดิปกครองอยู่จนถึงปีค..1453  ก่อนจะถูกยึดเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมาน (Ottoman  Empire) ของชาวมุสลิมเตอร์ก

มรดกทางอารยธรรมของชาวโรมัน

ชาวโรมันรับความเจริญด้านต่างๆ (การต่อเรือ ความรู้ทางอักษรศาสตร์ การใช้เหรียญกษาปณ์ ศิลปะและมาตราชั่ง ตวง วัด) จากกรีกทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านชาวอีทรัสกันและชาติอื่นที่เข้ามาติดต่อค้าขายในแหลมอิตาลี

สถาปัตยกรรมโรมัน
แม้ชาวโรมันจะด้อยกว่าชาวกรีกในด้านปรัชญาแต่ก็มีความสามารถทางด้านการดัดแปลงและปรับปรุงอารยธรรมอย่างกลมกลืน
ศิลปะและสถาปัตยกรรมโรมันสะท้อนความเป็นนักปฏิบัติของชาวโรมันมากกว่า             ชาวกรีก (ซึ่งเป็นนักคิดชาวโรมันไม่สร้างวิหารขนาดใหญ่  แต่นิยมสร้างอาคารและสาธารณูปโภคขนาดใหญ่  เช่น โรงละครบางแห่งจุคนได้ถึง 67,000 คน  (เช่น Colosseum)  ที่อาบน้ำสาธารณะ  สนามกีฬา ท่อส่งน้ำ ถนน สะพานและประตูเมือง มีการดัดแปลงซุ้มประตูของกรีกให้เป็นแบบอาร์ค (arch) และดัดแปลงหลังคาอาคารแบบทรงจั่วให้เป็นแบบโดมซึ่งนิยมกันมากในสมัยกลาง



ภาพสถานที่อาบน้ำสาธารณะสร้างโดยจักรพรรดิคาราคอลลา (Caracolla) ที่กรุงโรม  ทำด้วยหินอ่อนและคอนกรีต (211-217 AD.)



ภาพวิหาร Pantheon  ที่กรุงโรม (118-128 AD.)
ประติมากรรมโรมัน
ช่างชาวโรมันมักสะท้อนบุคลิกภาพของมนุษย์แบบสมจริงมีชีวิตชีวาเหมือนธรรมชาติ   แต่มีสัดส่วนงดงามแบบประติมากรรมกรีก  และนิยมสร้างประติมากรรมรูปเหมือนส่วนครึ่งบนของบุคคลสำคัญเช่น จักรพรรดิหรือนักการเมืองได้อย่างสมบูรณ์  เพราะเชื่อว่ารูปเหมือนจริงจะช่วยรักษาวิญญาณของบุคคลที่ตายแล้ว


จักรพรรดิ Marcus  Aurelius บนหลังม้า  กรุงโรม (164-166 AD.)


รูปเหมือนจักรพรรดิคาราคอลลาประมาณ 300 AD.
ศิลปินชาวโรมันนิยมแกะสลักภาพนูนบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เพื่อสดุดีวีรกรรมของนักรบ  อาทิภาพสลักนูนรอบเสาเล่าเรื่องการรบในสงครามที่ดาเซีย (โรมาเนีย)             ชื่อ Trajan’s Column  สร้างเมื่อ ค..114


ภาพเล่าเรื่องบนเสาทราจัน (113 AD.)  หินอ่อนสูง 38 เมตร ภาพยาวตลอดเสา 198 เมตร (จักรพรรดิทราจันรบกับชาวดาเซียน  จากตอนกลางของโรมาเนีย)



ภาพโมเซอิกจากคฤหาสน์ปิอาซซา อาร์เมรินา (Villa at Piazza Armerina) ใน Sicily ประมาณ 400 AD.
วรรณกรรมโรมัน
ระยะแรก (753 BC-100BC.) มีการเขียนเรื่องเกี่ยวกับผู้ปกครองและกษัตริย์            การรวบรวมกฎหมาย รวมถึงตำราทางการทหารและการเกษตร
ระยะต่อมา (100 BC.-476 AD.) เมื่อภาษาละตินมีพัฒนาการที่สละสลวยดีแล้ว            จึงเริ่มพบหลักฐานการแต่งคำประพันธ์อย่างจริงจัง งานประพันธ์ของโรมันเน้นการรับใช้จักรวรรดิ สอดแทรกจริยธรรมทางการเมือง คำสอนเกี่ยวกับหน้าที่และความจงรักภักดีต่อจักรวรรดิ  อาทิ งานร้อยแก้วของนักเขียนสำคัญคือซิเซโร (Cicero  -106-43 BC.)  ซึ่งใช้โวหารเสียดสีติเตียนพฤติกรรมของฝ่ายปกครองและอำนาจรัฐ นอกจากนี้ก็มีงานของ จูเลียส ซีซาร์ (บันทึกสงครามโกลประวัติศาสตร์กรุงโรมของลีวี และเยอรมเนียของทาซิตุส เป็นต้น ขณะที่งานประพันธ์กรีกเน้นจินตนาการและเรื่องเทพปกรณัม
กฎหมาย  ระยะแรกไม่เป็นระบบ เพราะไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรและกลมกลืนกับหลักศาสนา  เรียกว่ากฎของพระเจ้า (Divine Law) ระยะหลังเรียกว่า กฎหมายบ้านเมือง  (Law of  City)  และในที่สุดก็ตราเป็นกฎหมายสิบสองโต๊ะเมื่อ 450 BC. ใช้บังคับทุกชนชั้นรวมทั้งจักรพรรดิด้วย  ทาส (ซึ่งไม่นับเป็นพลเมือง) ก็สามารถอุทธรณ์เรียกร้องความยุติธรรมได้ ประมวลกฎหมายของโรมันเป็นรากฐานของกฎหมายของหลายประเทศ เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน                  สก็อตแลนด์  ญี่ปุ่น  ฯลฯ  แม้แต่กฎของวัดในยุโรปสมัยกลางก็ยังมีร่องรอยอิทธิพลของกฎหมายสิบสองโต๊ะ จักรพรรดิจัสติเนียนทรงรวบรวมประมวลกฎหมายโรมันให้เป็นหมวดสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

เทพปกรณัมกรีก-โรมัน
เทพปกรณัมกรีก-โรมัน (Greek-Roman Mythology) หรือตำนานเทพเจ้ากรีก-โรมัน หมายถึง ศาสตร์หรือวิชาหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับตำนานหรือเรื่องเล่าขานต่างๆของเหล่าเทพเจ้าของชาวกรีก ซึ่งบางทีก็เรียกรวมว่า เทพเจ้ากรีก-โรมัน เพราะชาวโรมันรับอารยธรรมกรีกมาใช้ แล้วนำความเชื่อเรื่องเทพเจ้ามาด้วย เพียงแต่เปลี่ยนชื่อของบรรดาเทพเจ้ากรีกให้เป็นชื่อของตน แต่ยังคงมีตำนานเหมือนเทพนิยายกรีกทุกประการ
เทพเจ้ากรีก-โรมันมีมากมายหลายสิบองค์และเหล่าเทพบางองค์มีความสัมพันธ์กับทั้งเทพและมนุษย์ จึงเกิดทายาทเป็นทั้งมนุษย์และอมนุษย์อีกนับไม่ถ้วนสามารถเขียนแผนภูมิต้นไม้หรือ Family Tree ของเทพเจ้าได้ แผนภูมิต้นไม้นี้แสดงถึงต้นกำเนิดของเทพแต่ละองค์ว่ามาจากไหน ใครเป็นผู้ให้กำเนิดและยังโยงต่อไปได้อีกว่าใครเป็นลูกหลาน แล้วโยงต่อไปอีกเรื่อยๆ ไม่มีจุดจบดังรากไม้ จึงมีอีกวิชาที่เกิดขึ้นคือ Genealogy of Greek-Roman Mythology เป็นการศึกษาแผนภูมิต้นตระกูลของเหล่าเทพและบรรดาทายาทของปวงเทพ
กำเนิดเทพปกรณัมกรีก-โรมัน(ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดียเป็นอย่างยิ่ง)
ความกลัวปรากฏการณ์ธรรมชาติทำให้ชาวกรีกโบราณจึงพยายามหาเหตุผลและหาคำตอบว่า  ทำไมฟ้าร้อง ฟ้าผ่า หรือเหตุใดจึงมีเสียงสะท้อนจากถ้ำเมื่อส่งเสียง ชาวกรีกชอบฟังนิทานเรื่องเล่าปรัมปรา  ชอบแต่งโคลงกลอน รักการขับลำนำและดีดพิณคลอไปด้วย  ทำให้การ            ขับลำนำเป็นที่นิยม กล่าวกันว่าโฮเมอร์ (Homer) เป็นนักขับลำนำชั้นยอดคนหนึ่งของกรีก              ชาวกรีกชื่นชมน้ำเสียงการเล่านิทานของเขา
แรกเริ่มเทพปกรณัมหรือเทวตำนานเป็นบทกลอนที่ท่องจำกันมาเป็นรุ่นๆต่อมามีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร จึงไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่งตำนานเทพเจ้า บ้างก็ว่า โฮเมอร์ (Homer) แต่ง อีเลียด (Iliad) บ้างก็ว่าแค่รวบรวม บ้างก็ว่ากวีกรีกนาม เฮซิออด (Hesiod) แต่ง ส่วนโอวิด( Ovid) กวีโรมก็เล่าถึงเทวตำนานแต่ใช้ชื่อตัวละครต่างกัน เทวตำนานของโอวิดจะมีเนื้อหาพิสดารกว่าเทวตำนานของนักเขียนคนอื่น

เทพเจ้ากรีก-โรมัน แห่งยอดเขาโอลิมปัส

เทพชั้นสูง อยู่บนสวรรค์บนยอดเขาโอลิมปัส(Olympus) มีทั้งหมด 12 องค์ ดังนี้

1.ซูส  (Zeus) เป็นพระบิดาของบรรดาเทพเจ้าและเหล่าอมตชน รวมทั้งเป็นประมุขแห่งสวรรค์ด้วย ซูสเป็นบุตรแห่ง Cronos กับ Rhea มีพี่น้องทั้งหมด 5 องค์ คือ ดิมิเทอร์ (Demeter) Hades  เฮร่า (Hera)  เฮสเทีย (Hestia) และ โพไซดอน (Poseidon)  ซูสมีอาวุธเป็น Thunderbolt (สายฟ้า) มีนกประจำพระองค์คือนกอินทรี มีสถานศักดิ์สิทธิ์ที่ Arcadia  Crete Dodona และ Rhodes ซึ่งจะมีการรำลึกถึงพระองค์โดยการจัดแข่งกีฬาโอลิมปิก 4 ปี ต่อครั้ง             บนภูเขาโอลิมปัส

2. โพไซดอน (Poseidon) เทพเจ้าแห่งท้องทะเลของกรีก เป็นบุตรแห่ง Cronos กับ Rhea มีพี่น้องทั้งหมด 5 องค์ คือ Demeter  Hades  Hera  Hestia และ Zeus  โพไซดอนเป็นผู้ที่ประทานม้าให้แก่มนุษย์ เคยช่วย Apollo สร้างกำแพงเมืองทรอย และยังสร้างความเกลียดชังที่ไม่อาจแก้ไขได้ให้แก่ Troy ด้วย หลังจากที่ทรงทำอุบายให้พวก Trojan นำม้าไม้เข้าไปในเมือง สัญลักษณ์ของพระองค์คือ สามง่ามที่สามารถแหวกน้ำทะเล และทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้

3. ดิมิเทอร์ (Demeter) เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ และเกษตรกรรม
4. เฮร่า (Hera) ราชินีแห่งสวรรค์ เป็นบุตรีแห่ง Cronos กับ Rhea มีพี่น้องทั้งหมด             5 องค์ คือ Demeter , Hades , Hestia , Poseidon และ Zeus เธอได้ขอให้ Zeus เข้าพิธีสมรส          กับเธอ หลังจากที่ Zeus ปรารถนาจะมีเพศสัมพันธ์กับเธอ
เฮร่าเป็นเทพีแห่งการให้กำเนิดทารก การสมรส และสตรี เมืองที่เธอโปรดปรานคือเมือง Argos ซึ่งได้มาจากการเอาชนะ โพไซดอน และเมือง Stymphalus ซึ่งเป็นเมืองบ้านเกิดของเธอ ผู้ติดตามของเธอชื่อ Euboea สัตว์ประจำพระองค์คือนกยูง ผลไม้คือแอปเปิลและทับทิม
เฮร่าเป็นผู้ที่ช่วยเหลือชาวเรือ Argo ไว้หลายครั้งในการผจญภัย เป็นผู้ช่วยเหลือชาวกรีกในสงครามกับ ทรอย และได้ชื่อว่าเป็นหญิงที่ขี้หึงที่สุดในบรรดาเทพีแห่งสวรรค์             เธอมักจะตามไปลงโทษผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับ Zeus ทั้งที่บางครั้งหญิงเหล่านั้นดูเหมือนถูก               ซูสข่มขืนเสียมากกว่า

5. เฮสเทีย (Hestia) เทพแห่งการครองเรือน เทพแห่งครอบครัว เป็นบุตรีแห่ง Cronos กับ Rhea มีพี่น้องทั้งหมด 5 องค์ คือ Demeter , Hades , Hera , Poseidon และ Zeus พระนางเป็นเทพีที่เป็นพรหมจารีตลอดชีวิต ทั้งๆ ที่ได้รับการสู่ขอจาก Apollo และ Poseidon หลายครั้ง  ในฐานะของเทพีผู้รักษาบ้าน พระนางเป็นผู้ที่สร้างบ้านขึ้นเป็นคนแรก วิหารของพระนางอยู่ที่กรุงโรม ซึ่งจะได้รับการบวงสรวงจากสาวพรหมจารี พระนางมีสัญลักษณ์เป็นไฟนิรันดร

6. อาเรส (Ares) เทพแห่งสงคราม บุตรของ Zeus กับ Hera เป็นพี่ชายของ Eris พระองค์เป็นชู้รักของ Aphrodite ซึ่งเป็นน้องสาวของตนเอง  สัตว์ประจำพระองค์คือเหยี่ยวและสุนัข (บางตำราว่าเป็นนกแร้ง) ม้าของพระองค์มี 4 ตัว ชื่อ Aithon , Conabos , Phlogios และ Phobos พระองค์อยู่ฝ่าย Troy เมื่อครั้งทำสงครามกับกรีก และถูก Aloeidae ขังไว้ในโอ่งสำริดเป็นเวลาถึง 13 เดือน

7. อพอลโล่ (Apollo) เทพเจ้าแห่งการทำนาย การรักษา และดนตรี เป็นบุตรแห่ง Zeus และ Leto มีน้องสาวฝาแฝดชื่อ Artemis พระองค์เป็นผู้ที่มีเรื่องราวความรักมากมาย และมักเป็นความรักที่ไม่สมหวัง  อพอลโล่มีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์คือ Laurel สัตว์ศักดิ์สิทธิ์คือนกกาเหว่าและห่าน เครื่องดนตรีพระจำพระองค์คือพิณ และเกาะประจำพระองค์คือเกาะ Delos พระองค์เป็นผู้ช่วยเหลือฝ่าย Troy โดยเฉพาะ Hector ในสงครามกับกรีก นอกจากนี้ พระองค์ยังเป็นผู้สังหาร Python และ Cyclops อีกด้วย  วิหารศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์คือ Delphi ซึ่งที่นั่นจะมีนักบวชคอยบอกคำทำนายของพระองค์ให้แก่ประชาชนที่มาสักการบูชา

8. อาเทมีส (Artemis) เทพีแห่งดวงจันทร์และการล่าสัตว์ เป็นบุตรีของซูสและ Leto เป็นน้องสาวของอพอลโล่ พระองค์เป็นเทพีที่เป็นพรหมจรรย์องค์หนึ่งใน 3 องค์ ภาพที่ผู้คนเห็นอยู่เสมอๆ คือพระองค์จะถือธนูและศร มีสุนัขติดตาม บางครั้งอาจเห็นเธออยู่บนรถศึกเทียมด้วยกวางขาว  พระองค์เป็นผู้ให้การสนับสนุนฝ่ายทรอยในสงครามกรุงทรอย ตามอย่างพี่ชาย และได้ทำให้เกิดลมพัดสกัดกองทัพกรีกไว้ไม่ให้เข้าถึงประตูเมืองได้

9. เฮอร์มีส (Hermes) เทพแห่งการค้า เทพแห่งการโจรกรรม และผู้ส่งสารของเหล่าทวยเทพ เป็นบุตรของ Zeus กับ Maia สมรสกับ Lara พระองค์มักปรากฏกายในลักษณะสวมหมวกขอบกว้าง สวมรองเท้ามีปีก ถือคทาที่มีงูพัน เป็นผู้ประดิษฐ์พิณเป็นครั้งแรก โดยใช้เอ็นวัวขึงกับกระดองเต่า (ต่อมาพิณนี้จึงตกเป็นของ Apollo)  พระองค์เป็นเทพองค์แรกที่สามารถจุดไฟโดยใช้ไม้สีกัน เป็นผู้คุ้มครองการค้าขาย โชคลาภ การแข่งขัน และการขโมย ว่ากันว่าพระองค์สามารถขโมยฝูงแกะของ Apollo เมื่อเกิดได้เพียง 1 วัน Hermes เป็นเทพฝ่ายกรีกในสงครามกรุง Troy

10. อะธีน่า (Athena) เทพีแห่งสงคราม ความเฉลียวฉลาด และศิลปศาสตร์ของกรีก เมื่อเธอเกิดได้โผล่ออกมาจากศีรษะของ Zeus ในชุดเกราะพร้อมรบ พระองค์พำนักอยู่ ณ Acropolis แห่ง Athens ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์คือต้นมะกอก
เทพีอะธีนา เป็นผู้ที่มอบมะกอกให้กับมนุษย์เป็นองค์แรก ทำให้เมือง Athens ได้ใช้ชื่อของพระองค์เป็นชื่อเมืองเพื่อเป็นเกียรติ นอกจากนั้นยังเป็นผู้ให้บังเหียน Pegasus           แก่ Bellerophon เป็นผู้ช่วย Perseus ฆ่า Medusa  สอน Argus ให้ต่อเรือ Argo สอน Danaus ให้ต่อเรือรบสองหัว ช่วย Epeius สร้างม้าไม้ เพราะเป็นผู้อยู่ฝ่ายกรีกในสงครามกรุง Troy  ให้ฟันมังกรแก่ Cadmus เพื่อนำไปหว่านบนพื้นดิน ช่วยเหลือวีรบุรุษต่างๆ ในโอกาสต่างๆ อีกมาก เช่น Heracles หรือ Odysseus

11. อะโฟรไดตี้ (Aphrodite) เทพีแห่งความรักและความงาม เป็นบุตรีของ Zeus กับ Dione (บางตำราว่าเกิดจากฟองคลื่น) เนื่องจากพระนางเป็นเทพีที่มีความงดงามมาก สามารถสะกดสายตาชายได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งเหล่าเทพด้วยกัน พระนางจึงเป็นเทพีที่มีเพศสัมพันธ์มากที่สุดองค์หนึ่ง  สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของเธอได้แก่นกกระจอก นกนางแอ่น ห่าน และเต่า ส่วนดอกไม้และผลไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระนางได้แก่กุหลาบ Myrtle และแอปเปิล กล่าวกันว่าพระนางเป็นเทพีผู้คุ้มครองเหล่าโสเภณีด้วย  Aphrodite เป็นชนวนเหตุของสงครามกรุง Troy เพราะไปขโมยตัว Helen มาให้ Paris ดังนั้น พระนางจึงสนับสนุนฝ่ายกรุง Troy แล้วยังได้รับบาดเจ็บในระหว่างการสงครามจาก Diomedes อีกด้วย
12. เฮฟเฟสตุส (Hephaestus) เทพแห่งไฟ โลหะ และการช่าง เป็นบุตรของ Zeus กับ Hera (บางตำราว่าเป็นบุตรของ Hera ผู้เดียว) พระองค์เป็นเทพที่พิการและอัปลักษณ์   ซึ่งอาจเกิดจากการที่ถูก Zeus โยนลงจากสวรรค์เมื่อครั้งเข้าไปช่วย Hera จากการทะเลาะกับ Zeus  จากเหตุดังกล่าว พระองค์จึงถูกพระบิดาและมารดาทอดทิ้ง   Hephaestus ใช้เวลาช่วง 10 ปีแรกอยู่ในทะเล และได้สร้างโรงหล่อไว้ใต้ภูเขา Aetna มี Cyclops เป็นคนงาน โดยสิ่งที่พระองค์สร้างขึ้น ได้แก่ อาวุธของ Achilles และ Aeneas คทาของ Agamemnon สร้อยคอของ Harmonia ซึ่งผู้ สวมใส่จะประสบเคราะห์ร้าย โล่ของ Heracles

เทพชั้นรอง

เป็นเทพที่ไม่ได้มีเทวสถานอยู่ในโอลิมปัส มีมากมายหลายพระองค์ ตัวอย่างเช่น Dionysus, Demeter, Eros, Asclepius, Hygieia เป็นต้น ซึ่งเทพเหล่านี้ต่างก็มีหน้าที่และความสำคัญต่างๆ กันไป

วีรบุรุษและวีรสตรีในเทพปกรณัม
เหล่าวีรบุรุษและวีรสตรีของกรีกนั้น มีมากพอๆ กับพวกเทพเจ้า ดังนั้นจะขอกล่าวถึงเฉพาะวีรบุรุษที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันมากเท่านั้น
1. Heracles เป็นผู้ที่มีพละกำลังมากที่สุดในกรีก นอกจากนี้ยังสร้างวีรกรรมอีกมากมาย
2. Odysseus เป็นวีรบุรุษในสงครามกรุง Troy เนื่องจากเป็นผู้คิดประดิษฐ์ม้าไม้(White Base)ขึ้น และยังได้ผจญภัยในที่ต่างๆ อีกถึง 20 ปี ก่อนที่จะได้กลับบ้าน
3. Jason เป็นหัวหน้าคณะ Argonaut ไปตามหาขนแกะทองคำ
4. Perseus เป็นผู้สังหาร Medusa ได้สำเร็จ
5. Bellerophon เป็นผู้จับ Pegasus ได้ แล้วขี่มันไปสังหาร Chimera
6. Theseus เป็นผู้สังหาร Minotaur ได้สำเร็จ
7. Hippolyte เป็นผู้มอบเข็มขัดให้ Heracles ในภารกิจที่ 9 ของเขา
8. Atalanta เป็นคนแรกที่ทำให้หมูป่า Caledonian บาดเจ็บได้ และสังหาร Centaur ได้
9. Polyphemus เป็นบุตรของ Poseidon อยู่ในเผ่ายักษ์ตาเดียว เป็นผู้สังหาร Acis และยังเป็นผู้จับตัว Odysseus ได้ พร้อมทั้งกินลูกเรือของเขาไปอีกหลายคน
10. ปารีส (Paris) ในตำนานเทพกรณัมกรีกโบราณเป็นเจ้าชายแห่งเมืองทรอย โอรสของกษัตริย์พรีอัม(Prium) ได้ชิงตัวเฮเลน(Helen)ราชินีแห่งสปาร์ตามาเป็นคนรัก ทำให้เกิดสงครามทรอย  อันเป็นเหตุแห่งการล่มสลายของทรอย ปารีสเป็น ผู้สังหารอะคิลลิส (Achilles) โดยยิงธนูถูกที่ข้อเท้า           ซึ่งเป็นจุดอ่อนของอคิลลีส  ตามคำพยากรณ์ที่นางอัปสรธีทิส (Thetis) มารดาของอะคิลลิสเคยทำนายไว้ (รูปปั้นปารีส ในพิพิธภัณฑ์บริติชมิวเซียม ) ปารีสได้ชื่อว่าเป็นผู้ชายหล่อที่สุดในโลก

11. อคิลลีส (Achilles;  Akhilleus) เป็นวีรบุรุษในตำนานกรีกโบราณ(สงครามทรอย)เป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ในมหากาพย์ของโฮเมอร์ เป็นแก่นของเรื่องในมหากาพย์ คือ "โทสะของอคิลลีส" อคิลลีสเป็นบุตรของกษัตริย์พีลูสแห่งเมอร์มิดอนกับนางอัปสรธีทิส เกิดที่เมืองฟาร์สะลา แคว้นเทสสะลี แต่เดิมนางอัปสรธีทิสเป็นที่หมายปองของเทพซูสและโพไซดอนแต่ภายหลังโปรมีธูสแจ้งคำพยากรณ์ต่อเทพทั้งสองว่า บุตรของธีทิสจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่กว่าบิดา เทพทั้งสองจึงยกนางให้แก่พีลูส เมื่ออคิลลีสเกิด ธีทิสได้จุ่มร่างของบุตรลงในแม่น้ำสติกส์เพื่อให้เป็นคงกระพัน ร่างกายของอคิลลีสจึงแข็งแกร่ง ไม่มีอาวุธใดทำอันตรายได้
อย่างไรก็ดี  ขณะนางจุ่มร่างบุตร ธีทิสใช้มือกุมข้อเท้าบุตรไว้  จึงมีเพียงข้อเท้าที่ไม่ได้อาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นจุดอ่อนของเขา ในภาษาอังกฤษมีสำนวนว่า "Achilles heel" หมายถึง จุดอ่อน
อคิลลีสเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ เมื่ออักกะเมมนอนรวบรวมทัพเพื่อยกไปตีเมืองทรอย จึงได้เชิญตัวอคิลลีสไปด้วย คำพยากรณ์มีว่า กรีกไม่มีวันเอาชนะทรอยได้หากปราศจากอคิลลีส กระนั้นก็มีคำพยากรณ์สำหรับอคิลลีสว่า เขาจะสิ้นชีวิตหากสังหารแม่ทัพทรอย คือเฮกเตอร์
12. เฮกเตอร์ (Hector ) เจ้าชายแห่งเมืองทรอย เป็นวีรบุรุษในตำนานกรีกเรื่องสงครามทรอยเขาเป็นโอรสของกษัตริย์พรีอัมและนางเฮคคิวบา ผู้ครองเมืองทรอยแห่งเชิงเขาไอดา เป็นพี่ชายของเจ้าชายปารีส ผู้ชิงตัวเฮเลนมาจากเมนนิลิอัส เฮกเตอร์ได้รับยกย่องเป็นหนึ่งในเก้าผู้ยิ่งใหญ่ (The Nine Worthies) ซึ่งไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยกับการกระทำของปารีสหรือไม่ แต่ก็นำทัพออกปกป้องบ้านเมืองและครอบครัวอย่างเต็มกำลัง  เฮกเตอร์ได้ประลองกับอจักซ์จอมพลัง เป็นเวลาถึง 1 วันกับ 1 คืนโดยไม่มีผู้ใดแพ้ชนะ ต่อมาเฮกเตอร์มอบดาบแก่อจักซ์ ส่วนอจักซ์มอบเข็มขัดให้เป็นที่ระลึก
ระหว่างสงครามอคิลลิสผิดใจกับแม่ทัพอักกะเมมนอน จึงถอนตัวออกจากการรบ ทำให้ทัพกรีกเกือบพ่ายแพ้ เปโตรกลัสจึงนำชุดเกราะของอคิลลีสมาสวมและนำทัพเมอร์มิดอนออกรบ เฮกเตอร์เข้าใจผิดว่าเปโตรกลัสคืออคิลลีส จึงเข้าสู้ด้วยเต็มกำลังและสังหารปโตรกลัสได้ ทำให้อคิลลีสโกรธจัดและกลับเข้าร่วมรบอีกครั้ง อคิลลีสสามารถสังหารเฮกเตอร์ได้ และใช้เข็มขัดของอจักซ์มัดร่างของเฮกเตอร์ไว้กับรถม้าลากกลับค่าย ไม่ยอมคืนศพให้ฝ่ายทรอยตามธรรมเนียมการรบ จนภายหลังกษัตริย์พรีอัมได้ลอบเข้าค่ายกรีกเพื่อวิงวอนขอร่างของเฮกเตอร์คืน

สงครามทรอย (Trojan War)
สงครามทรอยเป็นสงครามสำคัญระหว่างชาวกรีกและชาวเมืองทรอยซึ่งตั้งอยู่ในเอเชียไมเนอร์(ประเทศตุรกี) สงครามนี้เกิดขึ้นหลังจากเจ้าชายปารีสลักพา         ตัวเจ้าหญิงเฮเลนซึ่งเป็นชายาของกษัตริย์เมนิลิอัสแห่งรัฐสปาร์ตากลับไปยังกรุงทรอย สงครามเมืองทรอยถูกเล่าผ่านมหากาพย์อีเลียดและมหากาพย์โอเดสซีย์   มหากาพย์อีเลียดเล่าเรื่องราวตั้งแต่ปีที่สิบของการรบจนถึงสิ้นสุดสงคราม ส่วนมหากาพย์โอดิสซีย์เล่าเรื่องราวหลังจากสงครามทรอยสิ้นสุดจนถึงการเดินทางกลับของเจ้าชายโอดีสิอุส
มหากาพย์อีเลียดกล่าวถึงการวางแผนตีกรุงทรอยของกองทัพกรีก โดยสร้างม้าไม้จำลองขนาดยักษ์เรียกว่า ม้าโทรจัน  เพื่อให้ทหารกรีกเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในม้าโทรจัน แล้วเข็นไปไว้หน้ากรุงทรอย เหมือนเป็นของขวัญและสัญลักษณ์ว่าชาวกรีกยอมแพ้สงคราม จากนั้นก็ถอยทัพออกห่างจากเมืองทรอย ชาวทรอยเมื่อเห็นม้าโทรจัน ก็ต่างยินดีและเข็นม้าโทรจันเข้าเมือง และจัดงานฉลองเป็นการใหญ่ เมื่อชาวทรอยนอนหลับกันหมด ทหารกรีกที่ซ่อนตัวอยู่ก็ออกมาจากม้าโทรจัน แล้วเปิดประตูเมืองให้กองทัพกรีกเข้ามายึดเมืองทรอยได้แล้วเผาเมืองทรอยทิ้ง จึงเป็นสาเหตุให้เหล่าเทพไม่พอใจ และกลั่นแกล้งไม่ให้ชาวกรีกยกทัพกลับบ้านเมืองอย่างปลอดภัย ดังปรากฏเรื่องราวในมหากาพย์โอดิสซีย์

แบบฝึกหัดบทที่ 3


1. มหากาพย์อีเลียดและโอเดสซีเป็นของอารยธรรมกรีกยุคใด
ก. ยุคมืด                                                     ข. ยุคคลาสสิค 
ค. ยุคทอง                                                    ง.ยุคเฮเลนิสติก
2. วิหารพาร์เธนอน (Parthenon)  สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานรูปเคารพของเทพองค์ใด
ก. เฮรา                                                       ข. อะเธนา
ค. อะพอลโล                                                 ง. อะโฟรไดตี
3. หัวเสาทำเป็นรูปใบไม้ตรงกับข้อใด
ก. หัวเสาดอริก                                              ข. หัวเสาไอโอนิก 
ค. หัวเสาแบบโครินเธียน                                   ง. หัวเสาอาเคียน
4. ความนิยมในการสร้างประติมากรรมหญิงเปลือยแทนรูปชายเปลือยเกิดขึ้นยุคใด
. ยุคแรก                                                                . ยุคมืด 
. ยุคคลาสสิค                                                          . ยุคเฮเลนิสติก
5. จิตรกรรมกรีกสมัยแรกมักทำ Back ground เป็นสีอะไร

. สีดำ                                                                     . สีแดง

. สีขาว                                                                    . สีเหลือง

6. ลักษณะของงานจิตรกรรมที่นิยมวาดสีพื้นตัดกับภาพในฉาก แล้วพัฒนาเป็นรูปเครือเถา และรูปเล่าเรื่องในนิทานปรัมปรา (Methology)  และมหากาพย์ของโฮเมอร์อย่างกลมกลืนงดงาม เกิดขึ้นในยุคใด
ก. ยุคแรก                                                    ข. ยุคมืด 
ค. ยุคคลาสสิค                                               ง. ยุคเฮเลนิสติค
7. การแสดงละครแพร่หลายมากในยุคใด
ก. ยุคแรก                                                    ข. ยุคมืด 
ค. ยุคคลาสสิค                                               ง. ยุคเฮเลนิสติค
8. ข้อใดถูกต้องเมื่อกล่าวถึงละครแบบโศกนาฏกรรม (Tragedy) และสุขนาฏกรรม (Comedy)
ก. ตัวละครชายทั้งหมด                                     ข. ตัวละครเป็นหญิงทั้งหมด
ค. ตัวละครเป็นชาย-หญิง                                  ง. ตัวละครเป็นเด็กทั้งหมด
9. นักปรัชญากรีกที่ก่อตั้งสำนักอะคาเดมีขึ้นที่เอเธนส์คือใคร
ก. โสเครตีส                                                  ข. เพลโต 
ค. อริสโตเติล                                                ง. เฮโรโดตัส
10. นักปรัชญาที่เชื่อว่า  ปัญญานำมาซึ่งความรู้  และความรู้นำมาซึ่งความสุขสบาย  ถ้าปราศจากความสุขสบายมนุษย์จะไม่เกิดปัญญา  คือใคร
ก. โสเครตีส                                                  ข. เพลโต 
ค. อริสโตเติล                                                ง. เฮโรโดตัส
11. เทพองค์ใด มิใช่ พี่น้องของมหาเทพซูส
. ดิมิเทอร์                                                                     ข. ฮาเดส
. อะธีนา                                                                 . โพไซดอน
12. อาวุธของมหาเทพซูส คือ อะไร
. ดาบ                                                                     . ธนู
. สายฟ้า                                                                 . สามง่าม        
13. เทพที่มักปรากฏกายในลักษณะสวมหมวกขอบกว้างสวมรองเท้ามีปีกถือคทาที่มีงูพันคือใคร
. อาร์เทมีส                                                              . อาเรส
. เฮอร์มีส                                                               . อะพอลโล
14. เทพีแห่งการครองเรือนและเทพแห่งครอบครัว คือ ใคร
. เฮร่า                                                                    . อะธีน่า
. เฮสเทีย                                                                . อะโพรไดตี
15. เทพีแห่งสงคราม ความเฉลียวฉลาด และศิลปศาสตร์
. เฮร่า                                                                  ข. อะธีน่า
. เฮสเทีย                                                           ง. อะโพรไดตี
16. เป็นชนวนเหตุของสงครามกรุงทรอยคือใคร
. ปารีส                                                                   . เฮเลน
. เฮกเตอร์                                                              . อะโพรไดตี


1 คือ จักรพรรดิเนอร์วา (Nerva ค.ศ.96-98) จักรพรรดิทราจัน (Trajan ค.ศ.98-117) จักรพรรดิฮาเดรียน (Hadrain ค.ศ.117-137) จักรพรรดิแอนโตนินัส พิอัส (Antoninus Pius ค.ศ.138-161) จักพรรรดิมาร์คัส เออเรอัส (Marcus Aurevius ค.ศ.161-180 (Nerva ค.ศ.96-98) (The Columbia Encyclopedia, 1963,                    PP. 1828-1829)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น