วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บทที่ 6 ศิลปวัฒนธรรมตะวันตกสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการและบารอค-รอคโคโค

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ความหมาย

นักประวัติศาสตร์ยุโรปส่วนใหญ่เห็นว่า  ศิลปวัฒนธรรมยุโรปที่เปลี่ยนแปลงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 14-16 เรียกว่าสมัยเรอแนสซองส์ (Renaissance  หรือ  Renascence)  แปลว่า  Rebirth  หรือ  to be born again หรือการเกิดใหม่ หรือ การฟื้นขึ้นมาใหม่นักประวัติศาสตร์ยุโรปอธิบายว่า การเกิดใหม่”  หมายถึงการเกิดใหม่ของวิชาคลาสสิค (กรีกโรมัน) ทางด้านความคิด  การศึกษาวรรณคดีและศิลปะ นักประวัติศาสตร์ไทยจึงแปลความหมายนี้ว่าเป็นสมัยการฟื้นฟู             ศิลปวิทยาการ
สมัยการฟื้นฟูศิลปวิทยาการมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคม  วัฒนธรรม  เศรษฐกิจ  และการเมืองเกิดขึ้นก่อนในอิตาลีก่อน   จากนั้นก็เผยแพร่ไปทางยุโรปตอนใต้  ได้แก่  ฝรั่งเศส  เยอรมนีตอนใต้  และเสปน   ส่วนยุโรปทางเหนือนั้นรับอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงจากอิตาลีเช่นกัน  แต่เน้นการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด  และข้อปฏิบัติทางคริสต์ศาสนา

สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการอาจแบ่งอย่างกว้างๆ เป็น 2  ตอน คือ
1. Italian Renaissance ..1300-1400 เป็นยุคที่เกิดอารยธรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการในอิตาลีทางเหนือ  โดยศูนย์กลางอารยธรรมเกิดที่เมืองฟลอเรนซ์  จากนั้นก็เผยแพร่ไปเมือง  เวนิช  โรม  และทั่วอิตาลีทางเหนือ
2.  Northern Renaissance ..1400-1500 เป็นยุคที่เกิดการฟื้นฟูศิลปวิทยาการนอกอิตาลีได้แก่ ประเทศต่างๆ ในยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส  เยอรมนี  สเปน  อังกฤษ  เนเธอร์แลนด์  เดนมาร์ค

นักประวัติศาสตร์บางคนแบ่งยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่
1ช่วงระยะแรก (Early period) ระหว่าง ค..1300-1490 เป็นช่วงที่อารยธรรมเริ่มต้นและเจริญสูงสุดในอิตาลีทางเหนือ
2ช่วงเจริญสูงสุด (High period) ระหว่าง ค..1490-1520 เป็นช่วงที่อารยธรรมแพร่หลายในยุโรปทางใต้  ได้แก่  ฝรั่งเศส  เยอรมนีตอนไต้  และสเปน
3.  ช่วงปลายยุค (late period) ระหว่าง ค..1520-1600 เป็นช่วงที่อารยธรรมในยุโรปทางเหนือเจริญสูงสุด (ยุโรปทางเหนือ ได้แก่ เยอรมนีตอนเหนือ อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์)

การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการเกิดขึ้นที่เมืองฟลอเรนซ์ในอิตาลีเป็นแห่งแรกภายใต้การนำของพ่อค้า  จากนั้นก็แพร่หลายไปยังนครรัฐอื่นๆแถบอิตาลีทางเหนือ  ปัจจัยที่ทำให้เกิดการฟื้นฟูศิลปวิทยาการในอิตาลีเป็นแห่งแรก  เกิดจากความเหมาะสมของสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของอิตาลีซึ่งเป็นคาบสมุทรยื่นออกไปในทะเลเป็นสำคัญ ทำให้รัฐอิตาลีภาคเหนือได้แก่ ฟลอเรนซ์ มิลาน      เวนิช เยนัวร์ ซาวอย และรัฐสันตปาปา  ต่างก็ประกอบธุรกิจการค้า อุตสาหกรรมและการธนาคาร  ชาวอิตาลีในรัฐต่างๆ จะมีกองเรือค้าขายแบบผูกขาดการค้าในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยนำสินค้าไปขายยังแถบฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  แล้วนำสินค้าจากทางตะวันออกไปขายทางยุโรปจนถึงมหาสมุทรแอตแลนติคและทะเลบอลติค  พ่อค้าเหล่านี้พยายามดำเนินชีวิตตามแบบขุนนางสมัยกลางทุกอย่าง จนได้รับสมญาว่าเป็น  “Merchant Princes”

พ่อค้าเหล่านี้พยายามยกความเป็นอยู่ของตนให้สูงขึ้นเท่าระดับขุนนางในสมัยฟิวดัล  เพื่อประโยชน์ทางการค้า และยังใช้อิทธิพลเงินอุปถัมภ์ศิลปินต่างๆเพื่อให้ศิลปินเหล่านี้เผยแพร่ชื่อเสียงความมั่งคั่งของตนให้เลื่องลือไปไกล

สาเหตุที่สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการเกิดขึ้นก่อนในอิตาลี


ประการที่หนึ่ง  สภาพทางภูมิศาสตร์  อิตาลีเป็นที่ตั้งของกรุงโรม ศูนย์กลางของ            อารยธรรมโรมัน
ประการที่สอง  สงครามครูเสด  ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเวลายาวนานร่วมสองศตวรรษ  ตลอดเวลาของสงคราม
ประการที่สาม  ความเสื่อมโทรมของสถาบันทางคริสต์ศาสนาฝ่ายบริหารขององค์กร ศาสนา ประพฤติตัวเหลวแหลกเป็นส่วนใหญ่
ประการสุดท้าย  สภาพเศรษฐกิจและสังคม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า  ชาวอิตาลีค้าขาย ของจนร่ำรวยแล้ว  ก็พยายามหาทางเข้าไปมีบทบาททางการปกครอง

นอกจากนี้ ชาวอิตาลียังชอบความอิสระ ชาติกำเนิดไม่สำคัญ การมีคุณธรรมและซื่อสัตย์แบบสังคมสมัยกลางก็ไม่จำเป็น เพราะต้องแข่งขันทางการค้าทุกด้านและทุกระดับชั้น               เพื่อความก้าวหน้าทางการค้าและอุตสาหกรรมของตน

ลักษณะศิลปวัฒนธรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ

1. ชนชั้นกลางมีบทบาทสูงสุด ชนชั้นกลาง คือ พ่อค้าเป็นกลุ่มที่ควบคุมทั้งด้านการปกครอง  การเมือง  ทหาร  เศรษฐกิจ  สังคม  และวัฒนธรรม 
ด้านการปกครอง  จัดให้มีการปกครองแบบสาธารณรัฐ  มีรัฐธรรมนูญและรัฐสภาฝ่ายบริหาร
ด้านการเมืองและทหาร เพื่อจะได้รักษาสภาพอำนาจการปกครองแบบเผด็จการของตนให้คงไว้  จึงต้องมีกองทหารรับจ้างคอยค้ำจุนอำนาจ
ด้านเศรษฐกิจ พ่อค้าจะใช้ยุทธวิธีต่างๆ เพื่อแข่งขันกันทางเศรษฐกิจ กฎหมายต่างๆ ที่ออกโดยรัฐสภานั้น  ก็เน้นด้านความคุ้มครองและส่งเสริมทางการค้า ระบบเงินตรา ระเบียบการเงินการธนาคาร  และชาวอิตาลียังมีบทบาททางเศรษฐกิจนอกอิตาลีอีกด้วย
ด้านสังคม  สังคมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการเป็นสังคมที่ตอบสนองความต้องการของชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ ชนชั้นกลางระดับสูงพยายามเลียนแบบชีวิตความเป็นอยู่ของพวกขุนนางสมัยกลาง จนได้รับสมญานามว่า Merchant Princes ดังได้กล่าวมาแล้ว

2. ศิลปะทุกด้านนิยมความสวยงามตามแบบกรีก-โรมัน แม้อิทธิพลของศิลปะกอธิกและไบแซนไทน์จะมีอยู่บ้าง แต่ศิลปินอิตาเลียนได้นำศิลปะแบบกรีก-โรมันมาเป็นแม่แบบ แล้วเพิ่มเทคนิคใหม่ๆ  เข้าไปด้วย  ศูนย์กลางของอารยธรรมด้านความคิดและศิลปะแห่งแรกคือเมืองฟลอเรนซ์
3. เป็นสมัยที่ภาษาและวรรณคดีมีแบบแผนสมบูรณ์สละสลวยตามแบบภาษาและวรรณคดีกรีก-โรมัน ชนชั้นกลางโดยทั่วไปนิยมศึกษาวรรณคดีกรีกและภาษาละติน  อย่างกว้างขวาง  โดยมีการจ้างผู้มีความรู้ทางกรีก - ละตินหรือที่เรียกว่า นักมนุษยนิยม  มาสอนตามบ้าน
4. เน้นแนวความคิดตามอุดมการณ์ของลัทธิมนุษย์นิยม (Humanism) “Humanism” แปลว่า  การมีความสนใจในภาษาโบราณ คือภาษากรีกละติน จนสามารถเขียน  อ่านและเข้าใจได้อย่างดีในสมัยกลาง  วิชาเหล่านี้ไม่มีในหลักสูตรการเรียน  การสอน  เพราะหลักสูตรการเรียนสมัยกลาง  ต้องศึกษาตามแนวที่พระสงฆ์ทางศาสนาคริสต์กำหนด นั่นคือ ต้องศึกษาเรื่องต่างๆที่เน้นความสำคัญของพระเจ้า  และหลักธรรมทางศาสนา  ภาษาที่ใช้เป็นภาษาละติน

            นักมนุษยนิยม (Humanists) ได้วางหลักสูตรการเรียนไว้ว่าผู้จบการศึกษามาแล้วจะสามารถเรียนรู้เรื่องราวของมนุษย์และโลกของมนุษย์อย่างดีนั้น  ควรศึกษาวิชาดังต่อไปนี้
1. การอ่านและศึกษาประวัติของนักประพันธ์สมัยโบราณเพื่อจะได้เข้าใจความรู้สึกนึกคิด และผลงานของชาวกรีก-โรมัน
2. หลักไวยากรณ์  เพื่อให้ภาษามีแบบแผนถูกต้อง
 3. วิชาวาทศิลป์  เพื่อสอนให้คนรู้จักวิธีการพูดจาตอบโต้ในเชิงการทูตและการค้า
4. วิชาประวัติศาสตร์ เพื่อเรียนรู้  และเรียนแบบพฤติกรรมของชาวกรีกโรมันที่ตายไปนานแล้ว
 5. ปรัชญาทางจริยธรรม เพื่อให้ชาวอิตาลีอยู่ในกรอบของจริยธรรมไว้บ้าง

ลักษณะของวรรณคดี

การเปลี่ยนแปลงทางวรรณคดีจากสมัยยุคกลางมาสู่สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการนี้จะเริ่มเห็นได้ชัดตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 ลักษณะวรรณคดีในยุคนี้ จะแตกต่างจากยุคกลางแทบจะโดยสิ้นเชิง
ลักษณะคำประพันธ์ต่างๆ  จะเลียนแบบคำประพันธ์ของกรีก-โรมันทุกด้าน มีการพิมพ์บทประพันธ์ภาษากรีก-ละติน เป็นภาษาท้องถิ่นด้วย เรื่องราวเทพนิยายกรีกจึงเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย

ศิลปะสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ
ศิลปะในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการนั้น ได้นำหลักการศิลปะกรีก-โรมัน มาผสมผสานเข้ากับเทคนิคใหม่ๆ ของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ได้แก่การจัดให้มี แสง (light) เงา (shadow)  ช่องว่าง (space)  และภาพที่แสดงการเคลื่อนไหว  และเพื่อให้ภาพดูใกล้ความเป็นจริง  ศิลปินจึงได้เพิ่มภาพลวงให้เห็นส่วนลึก (perspective)  เข้าไปด้วย
การก่อตัวของศิลปะเรอแนสซองส์ การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการเกิดขึ้นประมาณค..1350 เริ่มต้นในอิตาลีก่อนประเทศอื่น เหตุที่เริ่มต้นในประเทศอิตาลีก่อน เพราะเป็นแหล่งกำเนิด             ของอารยธรรมโรมัน และเป็นศูนย์รวมผลงานศิลปะและวรรณกรรมชิ้นเอกของโลกยุคคลาสสิค   (ยุคคลาสสิก คือ ยุคกรีก-โรมัน)
สาเหตุที่มีการฟื้นฟูศิลปวิทยาการในอิตาลี
สาเหตุหลัก ทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างยุโรป  ไบแซนไทน์และโลกมุสลิมโดยธรรมชาติ  ผลที่ตามมา สินค้าเข้า อาทิ เครื่องเทศ น้ำหอม งาช้าง น้ำมันมะกอก ไหม ไม้ ข้าว ปลาแห้ง กระจายไปยังฟลอเรนซ์ เวนิส ปิซา เยนัวร์
ลักษณะพิเศษของ Renaissance ในอิตาลี คือ ความมั่งคั่งด้านศิลปินและผลงาน นอกจากนี้ ศิลปินก็เป็นอัจฉริยะในศิลปวิทยาการแขนงต่างๆ โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนคือ มีราชสำนัก วัดและขุนนางอุปถัมภ์ค่าตอบแทนในการยังชีพแก่ศิลปิน ดังนั้นจึงปรากฏว่า ศิลปินสมัย             เรอแนสซองส์จำนวนมาก อาทิ จิออตโต ดาวินซี  และไมเคิลแองเจโล ล้วนได้รับการยกย่องว่า ยิ่งใหญ่ในฐานะนักมนุษยนิยมผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นทั้งจิตรกร ประติมากร สถาปนิก
ลักษณะของศิลปะสมัยเรอแนสซองส์ คือ การนำหลักการศิลปะกรีกโรมันมาผสมผสานกับเทคนิคใหม่ๆ  ได้แก่  การจัดให้มี  แสง (Light)  เงา (Shadow) ช่องว่าง (Space) และภาพที่แสดงการเคลื่อนไหว เมื่อต้องการให้ภาพมีลักษณะของการผลักระยะใกล้/ไกล ศิลปิน           ก็ใช้เทคนิคเพิ่มภาพลวงตาให้เห็นส่วนลึกแบบ Perspective ในงานศิลปะ

จุดเริ่มต้นของศิลปะเรอแนสซองส์ เริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบ ศิลปะให้ต่างจากยุคกลางตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 จากผลงานนิโคลา  ปิซาโน (Nicola Pisano) ผู้ออกแบบและสร้าง           แท่นสวด วัดที่เมืองปิซา เป็นภาพนูนเกี่ยวกับประวัติของพระเยซู โดยใช้รูปแบบและกลวิธี                  อย่างประติมากรรมกรีก-โรมัน ประติมากรรมดังกล่าวจึงมีชื่อเสียงและกลายบันดาลใจให้กับศิลปินเรอแนสซองส์ระยะต่อมา

ตระกูลสำคัญที่อุปถัมภ์ศิลปะเรอแนสซองส์
- เมืองมิลาน       ได้แก่   ตระกูลวิสคอนติ และตระกูลสฟอร์ซา
- เมืองมานตูอา    ได้แก่   ตระกูลกอนซากา
- เมืองเฟอร์รารา   ได้แก่   ตระกูลเอสเต
- เมืองฟลอเรนซ์   ได้แก่   ตระกูลเมดิชี

แรงบันดาลใจต่อศิลปะส่งผลให้ผู้อุปถัมภ์ศิลปะต้องการถูกจารึกชื่อในประวัติศาสตร์ และปรัชญาแบบปัจเจกชนนิยมได้กระตุ้นให้ศิลปินมุ่งแสวงหาชื่อเสียง เพื่อสร้างความสำเร็จในชีวิต และต้องการให้ผลงานศิลปะเป็นเสมือนอนุสาวรีย์อันถาวร ดังนั้นงานศิลปะที่สร้างสรรค์ออกมา  ส่วนหนึ่งจึงเน้นความสำคัญของผู้อุปถัมภ์และความสามารถของศิลปินซึ่งต้องการเสนอจินตนภาพด้านปรัชญามนุษยนิยมในรูปแบบศิลปะ
ศิลปะเรอแนสซองส์ส่งผลให้มีผู้อุปถัมภ์ศิลปินอย่างคึกคัก  สภาวการณ์ดังกล่าวจึงกระทบต่อทัศนคติของศิลปินเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ไมเคิลแองเจโล จึงเป็นทั้งกวี จิตรกร สถาปนิก และวิศวกร  ส่วนเลโอนาร์โด  ดา วินซี ก็เป็นทั้งศิลปิน นักวิทยาศาสตร์และวิศวกร
ผลกระทบของศิลปะที่มีต่อชีวิตของศิลปินในคริสต์ศตวรรษที่15-16 คือ ศิลปิน             มีสถานภาพในสังคมสูงมาก โดยเฉพาะในคริสต์ศตวรรษที่16 ช่างฝีมือที่ผ่านการฝึกฝนจากร้านช่างฝีมือ จะได้รับการยกย่องเป็นศิลปินด้วย นอกจากนี้ศิลปินยังได้รับยกย่องเป็นนักปราชญ์หรือพระสหายของเจ้านาย และยังเป็นอิสระจากกฎเกณฑ์สมาคมช่างฝีมือด้วย

ศิลปะสมัยเรอแนสซองส์แบ่งออกเป็น  3 ยุค
1. Early period ค.ศ.1397 -1490  เริ่มต้นและเจริญในอิตาลีทางเหนือ
2. High period ค.ศ.1490 -1520  แพร่หลายในยุโรปใต้ ฝรั่งเศส เยอรมนีใต้และสเปน
3. Letely period ค.ศ. 1520 - 1600 ศิลปะเรอแนสซองส์ในยุโรปเหนือเจริญสูงสุด ได้แก่  เยอรมนีตอนเหนือ  อังกฤษ  และเนเธอแลนด์

ศิลปินสำคัญสมัยเรอแนสซองส์ยุคแรก 
Giotto de Bondone (ค.ศ.1266-1337) ผู้ริเริ่มกรุยทางจิตรกรรมสมัยเรอแนสซองส์ยุคแรก
Masaccio (1401-1429) ผู้เปลี่ยนกระแสนิยมทางศิลปะจากยุคกลางสู่ยุคเรอแนสซองส์อย่างแท้จริง
Michaelangelo ศิษย์มาซัคชิโอนำผลงานของ Masaccio ชื่อ The Expulsion ไปศึกษา แล้วสร้างงานชื่อ The Expulsion ที่ The Sistine Chapel

จิตรกรรมเรอแนสซองส์ยุคแรกในอิตาลีค.ศ.1397-1490
เกิดขึ้นขณะที่จิตรกรรมไบแซนไทน์และกอธิกยังนิยม  ลักษณะเด่น คือ สนใจลัทธิปัจเจกบุคคล ธรรมชาติ   และศิลปะกรีก- โรมัน ได้รับแรงบันดาลใจจากประติมากรรมกรีก-โรมัน ถ่ายทอดผ่านศิลปะกอธิก ในสมัยนี้ภาพจิตรกรรมชื่อ “The Expulsion from Eden” ค.ศ.1427 เป็นจิตรกรรม 1 ใน2ภาพจิตรกรรมที่มีชื่อเสียงของมาซัคชิโอ  เป็นภาพสีปูนเปียกเขียนไว้ที่ห้องสวดบรองคัคชี ในวิหารซานตา มาเรีย เดล คาร์ไมนี (ฟลอเรนซ์) มีร่องรอยการแสดงความยิ่งใหญ่ของศาสนา
อีกภาพหนึ่งของมาซัคชิโอ คือ ภาพ The Tribute Money (มาซัคชิโอ,1427) ที่ห้องสวด  บรองคัคชี ในวิหารซานตา มาเรีย เดล คาร์ไมนี (ฟลอเรนซ์) “ Clearly Express Dramatic action,.”
ภาพเขียนชิ้นหนึ่งของปิเอโร เดลลา  ฟรานเซสกา ชื่อ  The Adoration of the Wood by the Queen of Shiba และ The Meeting of the queen of Cgiba and Solomon.               ค.ศ.1462-1464 มีลักษณะที่ดูยิ่งใหญ่ เคร่งขรึม กระด้าง เป็นพิธีการ  แต่ไม่เป็น “ดรามา”แบบภาพเขียนของมาซัคชิโอ

ภาพเขียนชื่อ Christ Supported by Angels (ค.ศ.1468) โดย Giovanni Bellini  แสดงภาพพระคริสต์ สิ้นพระชนม์แบบ “sleep hero..” โดยมีเทวทูตประคองอย่างนุ่มนวล พระวรกายของพระคริสต์เลียนแบบประติมากรรมหินอ่อนยุคคลาสสิก

จิตรกรรมเรอแนสซองส์ยุคแรกในยุโรปเหนือ บางคนจัดเป็นจิตรกรรมแบบยุคกลางตอนปลาย เพราะสนใจศิลปะ Greco-Roman เล็กน้อย ภาพของมนุษย์ไม่แสดงท่าทางและ             มีสัดส่วนใหญ่โตดังปรากฏในจิตรกรรมเรอแนสซองส์แบบอิตาเลียน   มีการศึกษาธรรมชาติดังเช่นศิลปะกอธิกยุคปลาย ภาพมีความลึกและให้ความรู้สึกลวงตามากขึ้น  เน้นกายวิภาคผิวหนัง รอยยับเสื้อผ้าและรายละเอียดถูกต้อง
ลักษณะเด่นจิตรกรรมเรอแนสซองส์ยุคแรกในยุโรปเหนือ  สัดส่วนตัวคนและรอยยับย่นของผ้ายังยึดแบบแผนของศิลปะยุคกลางตอนปลาย (กอธิก)  รูปคนในจิตรกรรมทั้งขนาดเล็กและใหญ่ มีลำตัวผอม ศีรษะใหญ่ ไหล่แคบ เส้นรอยยับย่นของเสื้อผ้าแบบเชิงมุม วางภาพทิวทัศน์/ สถาปัตยกรรมเป็นกลุ่ม  แสดงรายละเอียดของวัตถุสลับซับซ้อน มักเป็นภาพสะเทือนอารมณ์ บางครั้งก็นิยมใช้สีน้ำมันร่วมกับสีฝุ่นผสมไข่  ภาพอาร์โนฟินีกับเจ้าสาว โดยศิลปิน จาน ฟาน ไอค์ (ค.ศ.1434) ขนาด 33 X 22.5 นิ้ว  เป็นตัวอย่างของการแสดงรายละเอียดอย่างซับซ้อน อิทธิพลยุคกลาง  ลักษณะการเขียนภาพแบบสีโปร่งใส  ใช้สีน้ำมันเพิ่มความมันวาวให้ภาพ
จิตรกรรมสมัยเรอแนสซองส์ยุครุ่งเรืองในอิตาลี (1490-1520) เน้นภาพเหมือนของโลกทางวัตถุ เพิ่มทัศนมิติตื้น-ลึก แม่นยำเรื่องแสงธรรมชาติ แสงตกกระทบแสดงรายละเอียดพืชพรรณ สัตว์ มนุษย์ ท่าทางการเคลื่อนไหว บางครั้งแสดงเส้นคมขอบตัดกับทรงกลมหรือแนวโค้งของวัตถุ  ความแน่นของพื้นที่ในภาพ อาจทำให้ผิวหน้าคนคล้ายพื้นผิวหินมากกว่าผิวหนังมนุษย์
การใช้เงาสีหนักทำให้ภาพบางส่วนสลัว แต่ช่วยเน้นจุดสนใจให้เด่น  มีการผสมผสานระหว่างภาพเหมือน ธรรมชาติ เรื่องในนิยายโบราณ และสาระในชีวิตของชาวคริสต์แบบประเพณีนิยม
ภาพเขียนเชิงอนุสาวรีย์มักแสดงท่าทางสง่างามและความอดกลั้นของมนุษย์ จิตรกรรมคริสต์ศตวรรษที่15ของอิตาลี  มักมีขนาดใหญ่โตต่างจากยุโรปเหนือ มักใช้สีเฟรสโกและสีฝุ่น  บางครั้งก็ใช้สีน้ำมันเคลือบเงา นิยมภาพการบูชาพระคริสต์วัยเด็กหรือภาพมาดอนนา รูปนูนที่โลงศพหินมีภาพนิยายโบราณประกอบ บางทีก็มีภาพเหมือนผู้อุปถัมภ์งานปรากฏร่วมกับกษัตริย์และ          ข้าราชบริพาร

ศิลปินสมัยเรอแนสซองส์ยุครุ่งเรือง
ลีโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) มีผลงานส่วนใหญ่ช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 15 แต่ได้รับการยกย่องในสมัยเรอแนสซองส์ยุครุ่งเรือง ผลงานของดาวินชีเป็นสะพานเชื่อมระหว่าง คริสต์ศตวรรษที่ 15-16                                                          
เมื่ออายุได้อายุ 30 ปี  ดาวินชีเดินทางไปยังเมืองมิลานตามคำเชิญของดยุคแห่ง              มิลาน และอยู่ที่เมืองนี้นานถึง 17 ปี สร้างผลงานมากมาย เช่น ภาพวาดพระแม่แห่งหินผา              ภาพอาหารค่ำมื้อสุดท้ายและรูปปั้นอัศวินขี่ม้า รั้นอายุได้อายุ 47 ปี ดาวินชีกลับมาอยู่ที่เมือง           ฟลอเรนซ์และเป็นวิศวกรที่ปรึกษาของซีซาร์ บอร์เกีย ดยุคแห่งโรมาเนีย เพื่อค้นคว้าเกี่ยวกับเครื่องจักรและคณิตศาสตร์ พัฒนาวิธีการรบ  พระเจ้าฟรองซัวร์ที่ 1 แห่งฝรั่งเศส พระราชทานคฤหาสน์คลูซ์ ชานเมืองอัมบัวส์ เป็นที่พักจนเสียชีวิตอย่างสงบ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1519 เขาทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินส่วนตัวทั้งหมด รวมทั้งหนังสือและผลงานศิลปะให้แก่เมลซี (Francesco Melzi)  ศิษย์ผู้ซื่อสัตย์ที่อยู่ปรนนิบัติเขาจนวาระสุดท้าย
ภาพเขียนชิ้นสำคัญของดาวินชีชิ้นหนึ่ง คือ The Last Supper วาดในปี ค.ศ.1498  ขนาดภาพ 460 X 880 ซม.(15 x 29 ฟุต) สถานที่แสดง Convent of Santa Maria delle Grazie (Refectory) เมือง Milan
ภาพ Mona Lisa หรือ La Giocondo เป็นภาพวาดภรรยาของ Francesco del Giocondo (วาดเมื่อ ค.ศ. 1503-1506) ใช้สีน้ำมันวาดบนหนังสัตว์ขนาดภาพ 77 X 53 ซม.  จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ (Musee du Louvre) กรุงปารีส ใช้เทคนิค Chiaroscuro อย่างฉับพลันในการควบคุมลำดับแสงเงาก่อเกิดความรู้สึกแฝงนัย
นอกจากลีโอนาโด ดา วินชีแล้ว ศิลปินสมัยเรอแนสซองส์ยุครุ่งเรืองแล้ว อัลเบรคชท์  ดูเรอร์  ศิลปินชาวเยอรมัน (1471-1528) ก็ได้รับการยกย่องเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน ผลงานสำคัญ            ชิ้นหนึ่งคือ ภาพเหมือนศิลปิน  (ค.ศ.1500) จัดแสดงที่เมืองมิวนิค แต่ผลงานของเขากลับส่งอิทธิพล อย่างกว้างขวางแก่ศิลปินในอิตาลีและเนเธอร์แลนด์ยกเว้นเยอรมนี
ภาพเหมือนศิลปินโดยอัลเบรคชท์ ดูเรอร์ชี้ให้เห็นว่า ศิลปินตระหนักถึงคุณค่าของศิลปะมิใช่แค่เพียงสินค้า  จึงเห็นได้ชัดเจนว่าชายในภาพดังกล่าววางทวงท่าของตนอย่างสง่างามราวกับเป็นพระเจ้าเลยทีเดียว

การปฏิรูปศาสนา (Religion Reformation)
ชาวยุโรปมีการตื่นตัวในแนวความคิดแบบปัจเจกชนนิยม (Individualism) เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ในสมัยกลางตอนปลาย แนวคิดใหม่ๆเรื่องเสรีภาพและอิสรภาพในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ก็ส่งผลให้ชาวยุโรปคิดค้นและแสวงหาความรู้และความจริงด้วยสติปัญญาของตนมากยิ่งขึ้น
ในระหว่างคริสศตวรรษที่ 14-15  สถาบันคริสต์ศาสนาประสบกับความท้าทายอำนาจอย่างมากจากหลายฝ่าย นอกจากพลังทางความคิดแบบปัจเจกชนนิยมแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ สังคมและการปกครองกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สั่นคลอนอำนาจของศาสนจักร
กลุ่มที่ต้องการแก้ไขปรับปรุงแก้ไขข้อปฏิบัติต่างๆ ของศาสนจักรแบ่งออกเป็น              2 กลุ่ม  คือ
1. กลุ่มมนุษยธรรมคริสเตียน (Christian Humanists) มีผู้นำที่มีชื่อเสียงคืออีรัสมัส (Erasmus) เป็นผู้ที่เรียบเรียงพระคัมภีร์ใหม่ (The New Iestament) ขึ้น พร้อมกับสนับสนุนให้มีการแปลออกเป็นภาษาท้องถิ่น
2. กลุ่มของเจ้าหน้าที่ในองค์การศาสนาคริสต์ (Counciliar Movement) ที่พยายามจัดตั้งธรรมนูญการปกครองทางศาสนาเพื่อควบคุมการใช้อำนาจของพระสันตะปาปาโดยจัดตั้งเป็นสภาที่ปรึกษา  (Chruch Council)

บทบาทของมาร์ติน  ลูเธอร์  (Martin Luther)
เมื่อมาร์ติน  ลูเธอร์เริ่มงานปฏิรูปศาสนา  จุดประสงค์ระยะแรกของเขา คือ ต้องการให้มีการจัดระบบการบริหารภายในสถาบันศาสนาใหม่  โดยใช้ระบบผู้แทนแทนระบบการแต่งตั้ง อีกทั้งต้องการให้มีการปฏิรูปศาสนาในระดับต่างๆ  และลดความสำคัญของพระสันตปาปาในการแต่งตั้งและมีอำนาจเหนือพระราชาคณะในค..1517 ลูเธอร์เสนอหลักการ 95 ประการ (95 Theses) ติดประกาศที่บานประตูโบสถ์ ณ เมืองวิตเตนเบอร์ก  (Wittenburg)   โจมตีความเสื่อมทรามของศีลธรรมจรรยาของพวกพระและการประพฤติปฏิบัติผิดในคริสต์ศาสนา
แนวคิดและหลักการของลูเธอร์  (Luther’s  Principle)
หลักการปฏิบัติของลูเธอร์ที่แตกต่างจากองค์การคริสต์ศาสนจักรมี 3 ประการ ดังนี้
1. ศรัทธาโดยความเชื่อไม่ใช่โดยการกระทำ (Salvation  by faith  not  by  work)
2. อำนาจสูงสุดของพระคัมภีร์คือสิ่งเดียวที่ตัดสินความถูกต้อง (The ultimate  authority of  the  Bible)
3. คริสตศาสนิกชนทุกคนเป็นพระได้ทั้งนั้น (The priesthood  of  all  believers)

แนวคิดในการปฏิรูปศาสนาของลูเธอร์นั้น ประการที่หนึ่ง  เกี่ยวกับบทบาทของคริสต์ศาสนิกชนให้มีความเชื่อในพระคัมภีร์ด้วยเหตุผล  และมีการใช้ความคิดไตร่ตรอง  การศึกษาในพระคัมภีร์จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถกระทำได้อย่างเสมอภาค
ประการที่สอง  เกี่ยวกับบทบาทขององค์การคริสต์ศาสนา  ลูเธอร์เห็นว่าองค์การคริสต์ศาสนาที่มีอยู่นั้นทำให้คริสต์ศาสนาต้องเสื่อมทราม
ลูเธอร์ยืนยันความคิดที่ว่าคริสต์ศาสนาเป็นที่รวมของคริสตศาสนิกชนซึ่งมีพระเจ้าเป็นที่สักการะสูงสุด  บทบาทของเจ้าหน้าที่ทางศาสนาที่มีอยู่ในระดับต่างๆ คือ ผู้ให้คำอธิบายและดำเนินการให้เป็นไปตามพระคัมภีร์

ความคิดทางการเมืองของลูเธอร์
ในความคิดทางการเมือง ลูเธอร์สนับสนุนอำนาจการปกครองสูงสุดของฝ่ายบ้านเมือง ทั้งนี้เพราะลูเธอร์ไม่ต้องการให้ศาสนาเข้าไปมีส่วนรับผิดชอบในทางโลก  เขายอมรับว่ารัฐบาลเป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง  และเป็นหน้าที่ของคนในบังคับที่ต้องเชื่องฟังฝ่ายปกครอง
ความคิดสนับสนุนอำนาจรัฐของลูเธอร์เห็นได้อย่างชัดเจนในเหตุการณ์กบฏชาวนาและข้าติดที่ดินในเยอรมนีระหว่างค..1524-1525  กบฏดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ  สังคม  และการปกครองของดินแดนเยอรมนีซึ่งยืดเยื้อมานานนับศตวรรษ
นิกายลูเธอรันเป็นที่ยอมรับและเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวีย (เดนมาร์ก นอรเว  และสวีเดนซึ่งหันมานับถือนิกายลูเธอรันในเวลาไล่เรี่ยกับทางดินแดนทางตอนกลางและตอนเหนือของเยอรมนี 
อย่างไรก็ดีนิกายโปรแตสแตนท์อื่นที่มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดของคริสตศาสนิกชนมากในเวลานั้นได้แก่ นิกายคาลแวง (Calvanism) ซึ่งจัดตั้งโดย จอห์น              คาลแวง (John Calvin,..1509-1564) โดยมีศูนย์กลางในการดำเนินงานที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์  คาลแวงเป็นชาวฝรั่งเศสที่ได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดของลูเธอร์เป็นส่วนใหญ่

แนวความคิดของจอห์น  คาลแวง
1. คาลแวงไม่มีความเชื่อเรื่องของระบบภายในองค์การศาสนา (Hierachy  Chruch) เขาถือว่าการเป็นคริสเตียน คือ  ถือปฏิบัติตามแนวทางศาสนาด้วยตนเอง 
2. ดาลแวงเสนอหลักการในเรื่องชีวิตมนุษย์ที่ถูกกำหนดไว้แล้วโดยพระผู้เป็นเจ้า(Predestination)  ที่จะเลือกหรือไม่เลือกผู้ใด  หลักความเชื่อนี้กระตุ้นให้คนมีคุณธรรมมากขึ้นใน ค..1550 นิกายคาลแวงเผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็วและเป็นที่ยอมรับมากในเจนีวาในอังกฤษเรียกนิกายคาลแวงว่า พิวริแตน  (Puritan)

ผลการปฏิรูปศาสนา
1. การปฏิรูปศาสนามีผลโดยตรงต่อประเทศตะวันตก กล่าวคือได้แบ่งแยกคริสต์ศาสนิกชนเป็น 2  นิกาย คือ นิกายโรมันคาทอลิกสนับสนุนพระสันตปาปาแห่งกรุงโรม                  และนิกายโปรแตสแตนท์ที่ประท้วงข้อปฏิบัติของนิกายโรมันคาทอลิก ส่วนนิกายโปรแตสแตนท์เอง ก็แบ่งแยกออกเป็นนิกายต่างๆจำนวนมาก
2. ก่อให้เกิดปฏิรูปนิกายโรมันคาทอลิก หลังจากที่หลายประเทศในยุโรปมีการปฏิรูปศาสนาและยอมรับนิกายโปรแตสแตนท์ ซึ่งฝ่ายคาทอลิกประณามว่าเป็นการปฏิวัติต่อต้านอำนาจสูงสุดที่มาจากพระผู้เป็นเจ้าและเป็นการปฏิวัติทางศาสนา (Religious  Revolution)

นิกายโรมันคาทอลิกยืนยันหลัก 3 ประการ  คือ
ประการแรก  อำนาจสันตปาปาเป็นอำนาจสูงสุดไม่มีองค์การใดจำกัดอำนาจนี้ได้
ประการที่สอง เพื่อให้หลักการศาสนาคาทอลิกถูกนำไปใช้อย่างถูกต้อง ให้จัดตั้งระบบศาลพิเศษ ให้เจ้าหน้าที่สามารถอธิบายโต้ตอบปัญหาทางศาสนาที่เกิดขึ้นให้เป็นที่ยอมรับ
ประการที่สาม ห้ามอ่านหนังสือที่ไม่ผ่านการยอมรับจากสภาแห่งเมืองเทรนท์ และห้ามอ่านหนังสือต้องห้ามที่มีรายชื่อที่สภาระบุไว้ทั้งหมด

ผลการปฏิรูปทางศาสนาที่มีต่อโลกตะวันตก  
การปฏิรูปศาสนา  ทำให้สังคมตะวันตกซึ่งเคยมีคริสตศาสนาเป็นศูนย์รวมของผู้คนหลากหลายชาติภายใต้ศรัทธาและความเชื่อเดียวกันเกิดความแตกแยกและหันไปนับถือคริสตศาสนานิกายต่างๆ และเกิดขันติธรรมทางศาสนา (Religious Toleration) ทำให้ประเทศต่างๆหันมาปรับปรุงประเทศของตนแทนการยึดติดกับศาสนา  จนเกิดแนวทางใหม่ในสังคมตะวันตกโดยที่ผู้ปกครองเป็นอิสระจากการครอบงำของศาสนาคริสต์ดังเช่นสมัยกลาง
ศิลปะบารอคและรอคโคโค (Baroque and  Rococo)
ตั้งแต่สมัยเรอแนสซองส์ตอนปลาย ยุโรปเปลี่ยนแปลงทั้งด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ที่สามารถตอบคำถามและข้อสงสัยซึ่งในอดีตหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ ประการสำคัญ แทนที่ชาวยุโรปจะเชื่อคัมภีร์ในคริสต์ศาสนาซึ่งระบุว่าโลกมีสัณฐานแบน  หรือโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก กลับแสวงหาคำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์ยิ่งขึ้น กลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการคิดค้นสร้างสรรค์และนำมาสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม การเดินทางรอบโลก และการค้นพบดินแดนใหม่
สภาวะสังคมในยุโรปยุคนี้  พระสันตปาปาแห่งโรมทรงถูกท้าทายอำนาจจากนักวิทยาศาสตร์  ส่วนพระด้วยกันเองก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของศาสนาจักรและพฤติกรรมของพระที่ใช้ชีวิตอย่างสบาย  เจ้าอาวาสกลายเป็นนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทางโลก  ขณะที่พระคาร์ดินัลและบิชอปทำตัวเป็นรัฐบุรุษและใช้ชีวิตหรูหราราวกับเจ้าชาย  ในยุคนี้มีธรรมเนียมการปฏิบัติซึ่งถือว่าเป็นการทำผิดอย่างชัดเจน คือ ซื้อขายตำแหน่งเจ้าอาวาสที่วาติกัน และมีการซื้อขายใบไถ่บาปโดยอ้างว่าเป็นการระดมทุน เพื่อบูรณะมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรม (อัธยา โกมลกาญจน์ 2524, 378) ทำให้บาทหลวงชื่อ มาร์ติน ลูเธอร์ ออกประกาศโจมตีการกระทำของศาสนจักรอย่างรุนแรง เป็นจุดกำเนิดของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ในคริสต์ศตวรรษที่ 16  ดังกล่าวไปแล้วข้างต้น
ช่วงนี้คริสต์ศาสนาเริ่มให้อิสระทางความคิด ค้นคว้าและพัฒนาโดยอาศัยศักยภาพในตัวมนุษย์  แทนการกำหนดบังคับจากบทบัญญัติแห่งคัมภีร์ทางศาสนาดังเดิม  ทำให้เกื้อหนุนต่อการปฏิวัติสังคมและอุตสาหกรรมในระยะเดียวกันและระยะต่อมา รวมถึงทำให้เกิดศิลปะบารอคและรอคโคโคด้วย

ศิลปะบารอค
ยุคบารอคกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศอิตาลี แล้วขยายวงกว้างออกไปทั่วยุโรประหว่าง ค..1550-1750 เจริญสูงสุดระหว่าง ค..1680-1730 ในช่วงนี้มีชื่อเรียกว่ายุค  High – Baroque  ในทางศิลปะ ระยะเวลา 200 ปีตั้งแต่ช่วงปลายยุคเรอแนสซองส์(คริสต์ศตวรรษที่ 16 กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18)  ได้เกิดแนวทางการสร้างสรรค์ศิลปะที่แปลกไปจากสมัยเรอแนสซองส์ยุครุ่งเรืองทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรมและดนตรี เรียกว่า ศิลปะบารอค”  คำว่า Baroque หมายถึง  ลักษณะที่ผิดเพื้ยนไปจากระเบียบ วิธีคิดทางการสร้างสรรค์ต้นแบบ

 
จิตรกรรม
จิตรกรรมสมัยบารอค เป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาจิตรกรรมสมัยเรอแนสซองส์ยุครุ่งเรือง  โดยเน้นให้เกิดความขัดแย้งระหว่างแสงเงา เพื่อให้ดึงดูดความสนใจและความประทับใจเมื่อเกิดการปะทะรับรู้ทางการมองเห็นอย่างฉับพลัน  ลักษณะเด่นอีกประการของจิตรกรรมบารอค คือ ภาพคนจะแสดงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายอย่างหรูหรา มีรอยพับซับซ้อนและปกคลุมร่างกายส่วนใหญ่ไว้ด้วยรอยพับของอาภรณ์ การแสดงออกของศิลปินแต่ละคน ก็จะมีลักษณะปลีกย่อยเฉพาะตนแตกต่างกันไปบ้าง
จิตรกรสำคัญสมัยบารอคได้แก่ คาราวัคโจ แอนนิบาเล คาร์ราคซี และศิลปินในตระกูลเกอร์ชิโน  เป็นต้น

คาราวัคโจ (Caravagio)
คาราวัคโจ  ได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์ศิลปะว่า เป็นศิลปินสมัยบารอคคนแรก  ที่ปูทางไว้ให้กับรูเบนส์  เรมบรานท์ และเวอร์เมียร์  แม่นยำเรื่องกายวิภาคศาสตร์ของคน(Human Anatomy) มักจะเขียนภาพเกี่ยวกับคริสต์ศาสนาc]tแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการแสดงออกส่วนตนมากกว่าจะคำนึงถึงหลักเกณฑ์และความพึงพอใจของผู้อื่น  ผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งของคาราวัคโจ คือ ภาพ“Calling of Mathew” เขียนประมาณค.ศ.1599-1602


 









เรมบรานท์ (Rembrant)

จิตรกรสมัยบารอคที่มีชื่อเสียงเกือบทั้งหมดจะนับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก  โดยมุ่งสร้างผลงานเกื้อหนุนศาสนาอย่างขะมักเขม้นและมีความศรัทธา มีอิสระกว้างไกลในการสร้างสรรค์  ส่งอิทธิพลต่อจิตรกรในช่วงหลังมากที่สุดคนหนึ่ง  แต่เรมแบรนท์ นับถือนิกายโปรเตสแตนท์  ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เขาสร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างมีอิสระ



 











เทคนิคแนวทางศิลปะของเรมบรานท์
แทนที่จะเขียนภาพเพื่อเหตุผลทางศาสนา เขากลับกลับเขียนภาพที่มีเนื้อหาอื่นทำให้ภาพเขียนของเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพเขียนที่ยิ่งใหญ่ เทคนิคทางศิลปะที่เรมบรานท์ใช้ คือ ความแตกฉานเรื่องหลักกายวิภาคศาสตร์  ผสมผสานกับการจัดภาพแบบกระจาย   ซ่อนภาพรางๆไว้ในความมืด   และให้แสงสว่างจ้าเป็นจุดเน้นของภาพกระจายเป็นจุดๆ  อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนของเรมบรานท์ที่ส่งอิทธิพลแก่ศิลปินรุ่นหลังมากที่สุด

ประติมากรรม
ผลงานประติมากรรมสมัยบารอค  มีลักษณะรูปแบบศิลปะที่แสดงองค์ประกอบอันวิจิตรอลังการเช่นเดียวกับจิตรกรรม แสดงท่วงท่าอย่างโลดโผนคล้ายการแสดงละคร แสดงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหรูหา  ทำกลีบผ้าเป็นกลุ่ม  พับสลับไปมาจนดูเกินจริงและปิดรูปร่างคนเกือบหมด บ่งบอกถึงความสามารถที่เป็นเลิศของประติมากร  ข้อสังเกต คือ แม้ว่างานประติมากรรมจะถูกสร้างเพื่อประดับอาคาร แต่ก็มักจะถูกจัดวางให้โดดเด่นและเป็นอิสระเสมอ
ประติมากรสำคัญสมัยบารอคและควรกล่าวถึง คือ เบอร์นินี (Bernini) ชาวอิตาลี สร้างผลงานมีชื่อเสียงเป็นจำนวนมากไว้ที่กรุงโรม ผลงานของเขาให้อิทธิพลอย่างยิ่งต่อประติมากรรมในยุคเดียวกันและยุคต่อมาทั้งในอิตาลีและฝรั่งเศส
เบอร์นินี
เกิดในครอบครัวประติมากรมีชื่อเสียงเขาเป็นศิลปินทั้งด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม มีโอกาสสร้างงานชุดที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นอาชีพ ประประกอบด้วยภาพ เอนีสและแอนชิสีส” (Aeneas and Anchises)  “ดาวิด”  “การขืนใจของโพรเซอไพน์”  และ “อะพอลโลกับดาฟเน” นักประวัติศาสตร์จัดให้งานชิ้นหลังเป็นผลงานชั้นเยี่ยมที่สุด และเป็นเลิศในบรรดาประติมากรรมหลังยุคของไมเคิลแองเจโร  ผลงานเกือบทั้งหมดอยู่ที่บอร์เกเซ แกลเลอรีในกรุงโรม



 








               
สถาปัตยกรรมบารอค


ลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมบารอค  คือ พัฒนารูปแบบต่อจากสถาปัตยกรรมเรอแนสซองส์  ด้วยการเพิ่มเติมโครงสร้างประกอบและรายละเอียดทางสถาปัตยกรรม เสริมให้ภาพรวมดูสลับซับซ้อนขึ้น และมีความตื้นลึกหลายชั้น จึงสร้างความรู้สึกพร่างพราวและเคลื่อนไหว  มีการใส่แสงสว่างเข้ามาช่วยสร้างจุดสนใจในอาคารเป็นจุดด้วย อาทิ อาคารวัลเดอกราซ์ที่ปารีส  สร้างประมาณค.ศ.1655-1666 การตกแต่งภายในอาคารของเบอร์นินี ที่โบสถ์โคร์นาโร กรุงโรม

  โดยภาพรวมแล้วสถาปัตยกรรมบารอค มีรูปแบบราวกับสถาปนิกจะสร้างให้เป็นทั้งจิตรกรรมและประติมากรรม แตกต่างจากสถาปัตยกรรมในยุคที่ผ่านมา ซึ่งมีรูปแบบที่เรียบง่ายมั่นคง สถาปัตยกรรมที่เป็นแบบอย่างของสถาปัตยกรรมของบารอค ได้แก่ โบสถ์เซนต์แอกเนส              ที่กรุงโรม พระราชวังแวร์ซายล์สที่ฝรั่งเศส (ค.ศ.1661-1691) โบสถ์ทั่วไปในยุโรปตอนเหนือ เช่น เยอรมนี และเนเธอแลนด์




 















อาคารวัลเดอกราซ์ศิลปะบารอคในกรุงปารีส (ค.ศ.1655-1666)
ศิลปะโรโกโก
ปรากฏในยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นแบบอย่างศิลปกรรมอีกแบบหนึ่งของ           บารอค หรือเป็นผลจากพัฒนาการของศิลปะบารอค นักวิชาการบางท่านถือว่าเป็นศิลปะกลุ่มเดียวกับศิลปะบารอค
ศิลปะโรโกโกมีความเด่นชัดในฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แล้วแพร่สู่เยอรมนี ออสเตรีย อิตาลี และเบลเยียม มีรูปแบบคล้ายคลึงกับศิลปะบารอคยุครุ่งเรืองของอิตาลี คือ            มีโครงสร้างที่เป็นเส้นโค้งอ่อนหวาน โรโกโกจะเน้นรายละเอียดที่ประณีตและวิจิตรกว่าบารอค             แต่มักจะมีขนาดเล็กกว่า จึงมักจะเป็นศิลปะประดับตกแต่งผนัง กระเบื้องเคลือบและเครื่องโลหะอันแวววาวที่ใช้เส้นอ่อนหวาน มีความเคลื่อนไหวจัดภาพอย่างอิสระแบบสมดุลซ้ายขวาต่างกัน และแบบน้ำหนักไม่สมดุลกัน   
   
จิตรกรรมรอคโคโค
จิตรกรรมโรโกโก มีลักษณะไม่แตกต่างจากงานประดับประดาตกแต่งทั่วไป จิตรกรจะเน้นรายละเอียด ในการประดิษฐ์ตกแต่งส่วนประกอบย่อยมากมาย หรูหรา เกินธรรมชาติ เพื่อเน้นให้เกิดความหลงใหลในบรรยากาศแห่งภาพนั้นๆ มากกว่าการรับรู้ความเป็นจริงและความถูกต้องตามความเป็นจริง  ใช้สีตัดกันรุนแรง  จิตรกรชั้นนำคือ จัง อังตวน วัตตัว (Jean Antoine Watteau) ฟรังซัวส์ บูเชร์ (Francois Baucher) จัง ออโนเร  และฟราโกนาร์ด (Jean-Honore Fragonard) เป็นต้น  ภาพเขียนชิ้นสำคัญ ชื่อ การนัดพบกันของคู่รัก เขียนด้วยสีน้ำมัน เป็นผลงานของฟราโกนาร์ค เขียนขึ้นระหว่างค..1771-1773

ดนตรีคลาสสิก
ศิลปะการดนตรีมีวิวัฒนาการควบคู่กับมนุษย์มาเป็นเวลาช้านานเช่นเดียวกับงานสถาปัตยกรรม การดนตรีมีความเจริญรุ่งเรืองและเสื่อมโทรมไปตามยุคต่างๆตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ในยุคกรีกและโรมัน การดนตรีสอดแทรกอยู่ในงานเฉลิมฉลองต่างๆและกิจการทางศาสนา โดยเริ่มมีการใช้ตัวหนังสือแทนโน้ตดนตรี ในศตวรรษที่ 5 เมื่ออาณาจักรโรมันล่มสลายลง ทำให้เป็นช่วงเวลาแห่งยุคมืด (Dark Age) ศิลปะแขนงต่างๆ รวมทั้งดนตรีก็เสื่อมลง จนกระทั่งถึงยุคเรอเนสซองส์ (Renaissance) การดนตรีได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นอีก

ในศตวรรษที่ 6 ผู้คนเริ่มเบื่อหน่ายดนตรีที่มีความซ้ำซาก ขาดความกลมกลืน อีกทั้งไม่มีท่วงทำนองที่ชัดเจน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในวงการดนตรีขึ้น เริ่มจากการขับร้องที่มีตัวโน้ตพร้อมกันซึ่งได้พัฒนาเป็นการร้องเพลงประสานเสียง ดนตรีคลาสสิกตะวันตกแบ่งออกเป็นยุคสมัยต่างๆ ดังนี้

ยุคกลาง (Middle Age ค.ศ.500-1400)
ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance ค.ศ.1400-1600)
ยุคบารอค (Baroque ค.ศ.1600-1750)
ยุคโรแมนติก (Romantic ค.ศ.1825-1910)
ยุคศตวรรษที่ 20 (ค.ศ.1910) ถึงปัจจุบัน

การรื้อฟื้นศิลปการดนตรี ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังในยุคกลางแต่เครื่องดนตรีต่างๆ             ก็ยังพัฒนาไปไม่ถึงขั้นเป็นดนตรีออร์เคสตร้า เนื่องจากเครื่องดนตรียังล้าสมัยอยู่มาก เช่น ทรัมเปตไม่มีลิ้น เครื่องเป่ายังมีเสียงไม่ครบ เครื่องสีวีโอลยังมีจุดอ่อนในเรื่องโทนเสียง เป็นต้น จนถึงศตวรรษที่ 17 เครื่องดนตรีในยุคนั้นได้แก่ ลูท (Lute) ฮาร์พ (Harp) ไพพ์ (Pipe) โอโบ (Oboe) ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพวกมินเสตร็ล (Minstrel) และทรอบาดอร์ (Trobadour) ที่ใช้ประกอบการขับร้องและเดินทางท่องเที่ยวไปยังปราสาทต่างๆ ดนตรีของพวกมินสเตร็ลได้พัฒนาการไปจนสิ้นสุดยุคกลางและบางเพลงก็ยังมีปรากฏอยู่จนกระทั่งถึงทุกวันนี้
ในศตวรรษที่ 15 การดนตรีได้เริ่มเบ่งบานขึ้นด้วยการทำงานอย่างหนักของนักดนตรี  3 คน คือ พาเลสตริน่า (Giovanni Palestrina 1525-1594) ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งดนตรีสมัยใหม่ (The Father of Modern Music) ลาสซุส (Orland Lassus) และไบร์ด (William Byrd) บุคคลทั้ง 3 เป็นผู้เปิดประตูของศิลปะการดนตรีจากยุคกลางไปสู่ยุคเรอเนสซองส์ อันเป็นยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการทุกแขนง ทำให้ดนตรีเริ่มมีกฎเกณฑ์ในงานประพันธ์มากขึ้นรวมทั้งยังเกิดเพลงร้องในโบสถ์จำนวนนับร้อยและมอตเต็ต1อีกจำนวน 600 เพลง
อุปรากร (Opera) ได้ถือกำเนิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 16 เมืองฟลอเรนซ์ (Florence หรือ Firence) ประเทศอิตาลี และได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงจุดสูงสุดที่กรุงเวียนนา (Vienna) ประเทศออสเตรียโดยคีตกวีกลุ๊ค (Gluck) และโมสาร์ท (Wolfgang Amadeus MoZart) ในปลายศตวรรษที่ 18 และช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อุปรากรได้รับการพัฒนาต่อมาอีกอย่างรุ่งเรืองโดยคีตกวีที่มีชื่อเสียงได้แก่ เบลลีนี่ (Belini) โดนีเซตติ (donizetti) รอสซินี่ (Rossini) แวร์ดี (Verdi) ปุชชินี (Puccini) เป็นต้น
ดนตรีคลาสสิก (Classical Music) ได้เริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 17 และต่อเนื่องมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 18 โดยมีศิลปินอิตาเลียนเป็นผู้นำให้ดนตรีเข้าสู่ชีวิตจิตใจชาวยุโรปอย่างแพร่หลาย แหล่งกำเนิดของงานดนตรีในอิตาลีได้แก่ โรม เนเปิล ฟลอเรนซ์ อิทธิพลงานศิลปะการดนตรีของอิตาลีได้แผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางสู่ยุโรปตะวันตก ส่วนทางซีกตะวันออกนั้นกรุงเวียนนาเป็นศูนย์รวมที่สำคัญทางดนตรี โดยมีนักดนตรีชาวอิตาเลียนสำคัญได้แก่ ซิมาโรซ่า เพสซิชิลโล กัลลูปปี ซึ่งเดินทางเข้าไปทำงานที่นครเวียนนา เวียนนาจึงเป็นศูนย์กลางของดนตรีคลาสสิกและมีความรุ่งเรืองติดต่อกันมาถึง 200 ปี ทำให้นักดนตรีและคีตกวีที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเวียนนา อาทิเช่น กลุ๊ค (Gluck) ไฮเดิน (Haydn) โมสาร์ท (Mozart) บีโธเฟน (Beethoven) ชูเบิร์ท (Schubert) บราหมส์ (Brahms) สเตราส์ (Struass) บรู๊คเนอร์ (Bruckner) วูล์ฟ (Wolf ) มาห์เลอร์ (Mahler) เชินเบอร์ก(Shoenberg) และเวเบิร์น (Webern) เป็นต้น  กล่าวกันว่ายุคนี้เป็นยุคคลาสสิกของการดนตรีตะวันตกเลยทีเดียว
กรุงเวียนนายังเป็นศูนย์รวมของศิลปินท่านอื่นๆจำนวนมาก ในยุคนี้การดนตรีได้กลายเป็นชีวิตจิตใจของชาวยุโรป นักดนตรีและคีตกวีได้รับการสนับสนุนและชุบเลี้ยงจากราชสำนัก ศิลปะการดนตรีมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงส่ง และมรดกที่ได้รับสืบทอดมาจากยุคนี้คือ ซิมโฟนี (Symphony) ซึ่งเป็นดนตรีที่คีตกวีประพันธ์ขึ้นมาอย่างมีกฎเกณฑ์และแบบแผนเช่นเดียวกับดนตรีอุปรากร (Opera) และโซนาตา (Sonata) โซนาตาและซิมโฟนีแห่งยุคคลาสสิก
โซนาตาในยุคนี้ถูกนำมาดัดแปลงให้มีความหมายแตกต่างออกไปจากศตวรรษที่แล้ว โดยหมายถึงการบรรเลงเดี่ยวด้วยเครื่องดนตรีเพียงชิ้นเดียวหรือสองชิ้น เช่น Sonata for Violin หมายถึงการบรรเลงเดี่ยวไวโอลิน Piano Sonata หมายถึงการบรรเลงเดี่ยวเปียโน หรือ Sonata for String Quartet หมายถึง การบรรเลงด้วยเครื่องสาย 4 ชิ้น เป็นต้น แต่โครงสร้างของบทเพลงโซนาตานั้นจะเป็นแบบอย่างเดียวกับบทเพลงซิมโฟนี คือ บทเพลงซิมโฟนีประกอบด้วย 4 ท่อน(Movement) แต่บางครั้งก็อาจยาวกว่า4ท่อนก็ได้ โดยทั่วไปท่อนที่ 1 (First Movement) เป็นบทนำของเพลงมักมีความยาวมากที่สุด อาจมีลีลาที่ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับผู้ประพันธ์ ท่อนที่ 2 (Second Movement) โดยทั่วไปจะเป็นท่วงทำนองที่ช้าเป็นการพัฒนาThemeหรือเนื้อหาหลักของเพลงจากท่อนแรก ท่อนที่ 3 (Third Movement) เป็นลีลาที่ไพเราะผ่อนคลายหรรษาไปตามบทเพลงที่เรียกว่า มินูเอ็ท (Minuet) ท่อนที่ 4 (Fourth Movement) มักจะมีท่วงทำนองที่เร็วและมีสาระของเพลงน้อยกว่าท่อนอื่น บางครั้งก็จะเป็นลีลาที่ผันแปรมาจากท่วงทำนองหลัก(Theme) ของเพลงเป็นต้น ซิมโฟนีเป็นบทประพันธ์ดนตรีที่มีความไพเราะและยิ่งใหญ่ สามารถใช้ทดสอบความสามารถและความคิดริเริ่มของคีตกวีแต่ละท่านได้เป็นอย่างดี ดนตรีแห่งยุคคลาสสิกมีความรุ่งเรืองสูงส่ง ซึ่งจะสังเกตได้จากการมีวงดนตรีออร์เคสตร้าที่มีขนาดใหญ่มาก ประกอบด้วยเครื่องดนตรีกว่า 100 ชิ้นและวาทยากร (Conductor) 1 คน การจัดตำแหน่งของเครื่องดนตรีต่างๆ และนักดนตรีขึ้นอยู่กับวาทยากรแต่ละท่าน วงซิมโฟนีได้ถือกำเนิดครั้งแรกในยุคคลาสสิกนี้เอง และได้รับการพัฒนาต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้
จากยุคคลาสสิกต่อมาจนถึง โรแมนติก (Romantic) ซึ่งการดนตรียังไม่มีแนวทางต่างกันมากนัก นักดนตรีในยุคโรแมนติกที่มีชื่อเสียง 4 ท่านได้แก่ เมนเดลโซน (Felix Mendelsohn) โชแปง (Federic Chopin) ชูมานน์ (Robert Schumann) ลิซท์ ( Franz Liszt)
ยุคโรแมนติกเกิดขึ้นเมื่อแนวทางดนตรีเริ่มละทิ้งแบบแผนของคลาสสิก นับจากบทประพันธ์อันยิ่งใหญ่ เช่น “Spring Sonata “ ของโมสาร์ท ดนตรีแห่งยุคโรแมนติกได้หันเหแนวของดนตรีมาสู่แนวทางแห่งดนตรีชาตินิยม (Nationalism) โดยใช้เสียงดนตรีแบบพื้นเมือง และอิทธิพลทางการเมืองก็มีส่วนทำให้การดนตรีหันเหไป นับแต่การปฏิวัติในฝรั่งเศส การปฏิวัติในอเมริกา สงครามนโปเลียน เป็นต้น บทเพลง “ The Polonaise” ของโชแปงเป็นตัวอย่างของดนตรีแนว Nationalism ในยุคโรแมนติกยังเป็นช่วงเวลาก่อกำเนิดคีตกวีและนักดนตรีอีกหลายท่าน เช่น ปากานินี (Nicolo Paganini) วากเนอร์ (Richard Wagner) และแวร์ดี (Giusseppe Verdi)
ประเทศรัสเซียก็มีคีตกวีเอกอีกหลายท่านเช่น ไชคอฟสกี้ (Tchaikovsky) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นราชาแห่งบัลเลต์ รวมถึงผลงานอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ อุปรากร 10 เรื่อง ซิมโฟนี 6 บท บัลเลต์ 3 เรื่อง ที่รู้จักกันดี ได้แก่ Nutcracker, Swan Lake, Sleeping Beauty และบทเพลงที่มีชื่อเสียงมากอีกบทคือ 1812 Overture ต่อมาในปลายศตวรรษที่ 19 ก็มีอัจฉริยะทางดนตรีอีก 3 ท่านคือ บราหมส์ มาห์เลอร์ และบรู๊คเนอร์ ซึ่งล้วนอยู่ในแนวทางแห่ง Nationalism ทั้งสิ้น


วอล์ฟกัง อมาเดอุส โมซาร์ท (เยอรมัน: Wolfgang Amadeus Mozart)
(ที่มา http://www.kubatpiano.com/mozart.htmและhttp://th.wikipedia.org)



Frederic Chopin (1810-1849) คีตกวีคนสำคัญของยุคโรแมนติก
(ที่มาhttp://www.pantown.com/board)
แบบฝึกหัดบทที่ 6

ตอนที่ 1 จงทำเครื่องหมายถูกหน้าข้อที่ถูกและทำเครื่องหมายกากบาทหน้าข้อที่ผิด

………. 1. ศูนย์กลางของศิลปะเรอแนสซองส์สมัยแรก (Early Renaissance) เกิดที่กรุงโรม
………. 2.พ่อค้าสมัยเรอแนสซองส์ (Renaissance ) พยายามเลียนแบบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของ ขุนนางสมัยกลาง เช่น การอุปถัมภ์การสร้างงานของศิลปิน
………. 3. ศิลปะสมัยเรอแนสซองส์ (Renaissance ) นิยมความงามตามแบบอย่างจารีตสมัยกลาง
………. 4. นักปรัชญามนุษยนิยมสนใจศึกษาเรื่องราวและหลักธรรมทางศาสนา
………. 5. ตระกูลเมดิชี (Medici) เป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปินที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence)


ตอนที่ 2    จงจับคู่ให้ถูกต้อง

. สถาปัตยกรรมสมัยรอคโคโค (Rococo)   . ฟราโกนาร์ด (Fragonard) 
. เบอร์นินี (Bernini)                        . ประติมากรรมสมัยบารอค (Baroque)
. สถาปัตยกรรมสมัยบารอค (Baroque)    . บารอค (Baroque)               
. เรมบรานท์ (Rembrandt)                . ชิมอนี (Chimoni)                 

. รอคโคโค (Rococo)                        . จิตรกรรมสมัยรอคโคโค        

. คาราวัคโจ (Caravaggio)

……….1. การซื้อขายตำแหน่งทางศาสนาและใบไถ่บาป
……….2. ลักษณะที่ผิดเพี้ยนไปจากระเบียบแบบแผนดั้งเดิม
……….3. จิตรกรรมชื่อ Calling of Mathew
……….4. ริเริ่มจัดภาพแบบกระจายซ่อนภาพรางๆไว้ในความมืด ให้แสงจ้าเป็นจุดๆ
……….5. แสดงท่าโลดโผนคล้ายแสดงละคร แต่งกายหรูหราทำผ้าจีบเป็นมุมเกินจริง
……….6. ประติมากรรมเดวิด
……….7. มีโครงสร้างละเอียดซับซ้อน แลดูพร่างพรายจากการเน้นแสงสว่างในอาคารเป็นจุดๆ
……….8. มีโครงสร้างเป็นเส้นโค้งอ่อนหวานเน้นรายละเอียดที่วิจิตรพิสดาร
……….9. เน้นให้เกิดความเคลิบเคลิ้มในบรรยากาศมากกว่าการรับรู้ความจริง
……….10. จิตรกรรมชื่อ การนัดพบของคู่รัก



1   ในวิชากการดนตรีตะวันตก Motet  เป็นคำภาษาละติน(movere -to move) ที่ใช้เรียกจำนวนเสียงประสานของดนตรีตะวันตกที่มีอย่างหลากหลาย ซึ่งตรงกับคำว่า  mot, "word" or "verbal utterance."ในภาษาฝรั่งเศสโบราณ  ในภาษาละตินนั้น Motet หมายถึงการเคลื่อนไหวที่ทำให้เห็นความแตกต่างจากเสียงหนึ่งกับอีกเสียงหนึ่ง(http://en.wikipedia.org/wiki/Motet)

1 ความคิดเห็น: