วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

คำนำ


คำนำ

เอกสารคำสอนวิชา HT 325 ศิลปวัฒนธรรมตะวันตกเพื่อการนำเที่ยวนี้ พัฒนามาจากเอกสารประกอบการสอนที่แจกให้นักศึกษาในชั้นเรียนระหว่างปีการศึกษา 2549-2551 ถือเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชาเลือกสายอาชีพตามหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (การท่องเที่ยวและการโรงแรม) คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ขอบเขตของการศึกษาวิชาดังกล่าวเป็นเรื่องของศิลปะและวัฒนธรรมตะวันตกที่เกี่ยวข้องกับการนำชมแหล่งท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมถึงแนวคิดและรูปแบบสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรมตั้งแต่สมัยโบราณถึงปัจจุบัน
เนื้อหาของเอกสารคำสอนนี้ประกอบด้วยเรื่องราวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุโรป             อารยธรรมในเอเชียไมเนอร์และแอฟริกาเหนือ: รากเหง้าความเจริญของชาวตะวันตก ศิลปวัฒนธรรมตะวันตกยุคคลาสสิก(กรีก-โรมัน) ศิลปวัฒนธรรมตะวันตกแบบไบแซนไทน์ ศิลปวัฒนธรรมตะวันตกสมัยกลาง ศิลปวัฒนธรรมตะวันตกสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ และสมัยบารอค-รอคโคโค ศิลปะตะวันตกสมัยใหม่ระยะแรก  ศิลปะตะวันตกสมัยใหม่กลุ่มลัทธิอิมเพรสชันนิสม์  ศิลปะตะวันตกยุคหลังลัทธิอิมเพรสชันนิสม์ถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ศิลปะตะวันตกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่1  ศิลปะตะวันตกครึ่งหลังคริสตวรรษที่ 20 ถึงปัจจุบันและแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในยุโรป โดยอ้างอิงจากหนังสือ เอกสาร ตำราและข้อมูลในสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง จึงขอขอบคุณผู้สร้างสรรค์แหล่งข้อมูลข้างต้นเป็นอย่างยิ่ง
การศึกษาศาสตร์ใดๆ ให้เกิดความรู้อย่างลึกซึ้ง  จำเป็นต้องอาศัยหัวใจนักปราชญ์ในทางพุทธศาสนา คือ สุ(สุต-ฟัง) จิ(จินตนาการ-คิด) ปุ(ปุจฉา-ถาม)และลิ(ลิขิต-เขียน)เป็นเครื่องมือสำคัญ ดังนั้น แม้ว่าเนื้อหาของเอกสารคำสอนนี้จะครอบคลุมมิติทางด้านเวลาตั้งแต่อดีตสมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบันนานนับล้านปี แต่หากผู้เรียนมีความตั้งใจใฝ่รู้และพยายามสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ เรื่องราวต่างๆ ตามขอบเขตเนื้อหาข้างต้น ก็จะสามารถเข้าถึงสัมฤทธิผลทางการเรียนได้อย่างน่าภาคภูมิใจ รวมทั้งยังอาจได้พัฒนารสนิยมที่มีต่อความชื่นชมทางศิลปะต่อไปอย่าง               สืบเนื่องด้วย  ทั้งนี้ หากผู้อ่านพบว่าเนื้อหาตอนใดในเอกสารคำสอนนี้มีความผิดพลาดก็ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนที่จะต้องแก้ไขต่อไป


พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น